หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของอินโดนีเซียได้สั่งปรับบริษัทกูเกิล (Google) จำนวน 2.02 แสนล้านรูเปียห์ หรือ 12.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันอังคาร (21 ม.ค.) โดยระบุว่ากูเกิลดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับบริการระบบชำระเงินบนกูเกิลเพลย์สโตร์ (Google Play Store)
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า หน่วยงานดังกล่าวได้เริ่มสอบสวนกูเกิลซึ่งเป็นบริษัทลูกของอัลฟาเบท (Alphabet) ในปี 2565 หลังจากมีข้อสงสัยว่าบริษัทได้ใช้อำนาจในฐานะเจ้าตลาดในทางมิชอบ ด้วยการกำหนดให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันในอินโดนีเซียต้องใช้ระบบชำระเงินกูเกลเพลย์บิลลิง (Google Play Billing) ซึ่งมีอัตราค่าธรรมเนียมสูงกว่าระบบชำระเงินอื่น ๆ มิฉะนั้นจะถูกถอดออกจากกูเกิลเพลย์สโตร์
ทั้งนี้ หน่วยงานต่อต้านการผูกขาดของอินโดนีเซียได้ระบุในรายงานการไต่สวนว่า ระบบชำระเงินกูเกลเพลย์บิลลิงทำให้รายได้ของนักพัฒนาลดลงเนื่องจากส่งผลให้จำนวนผู้ใช้ลดลง และยังพบว่ากูเกิลละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของอินโดนีเซียด้วย
นอกจากนี้ ทางหน่วยงานยังพบว่ากูเกิลเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงถึง 30% ผ่านระบบกูเกลเพลย์บิลลิง
กูเกิลมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 93% ในอินโดนีเซียซึ่งมีประชากร 280 ล้านคนและเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ทางด้านโฆษกของกูเกิลกล่าวในวันนี้ (22 ม.ค.) ว่า บริษัทจะยื่นอุทธรณ์เพื่อคัดค้านคำตัดสินดังกล่าว
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กูเกิลถูกสหภาพยุโรป (EU) ปรับเป็นเงินมากกว่า 8 พันล้านยูโร หรือประมาณ 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในข้อหาผูกขาดตลาดการบริการเปรียบเทียบราคา (price comparison service) และบริการโฆษณา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 68)
Tags: Google, Google Play Store, กูเกิล, อินโดนีเซีย, เพลย์สโตร์