ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ เปิดทางตั้งบ.ลูก-ร่วมทุนฯ

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ววานนี้ (21 ม.ค.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

โดยเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย เพิ่มเติมวัตถุประสงค์และอำนาจการดำเนินกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการ กทท. ให้มีความเหมาะสม

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า กทท.ดำเนินการเพื่อแก้ไขพ.ร.บ. การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ เพื่อให้มีความการบริหารกิจการของกทท.มีความคล่องและทันสมัย เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและเพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ท่าเรือให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนแผนแม่บท

ซึ่งพ.ร.บ. การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญและมีความชัดเจนในการบริหารธุรกิจ โดย กทท.สามารถทำกิจกรรมด้านท่าเรือโดยตรงและสามารถทำกิจกรรมเกี่ยวเนื่องได้ด้วย ซึ่งในพ.ร.บ.การท่าเรือฯฉบับเดิมไม่ได้ระบุไว้ เช่น ที่ผ่านมา พื้นที่ของกทท.จะให้เอกชนเช่าเท่านั้น แต่พ.ร.บ. การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ ทำได้ โดยกำหนดมูลค่าลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจของบอร์ด กทท.อนุมัติ กรณีมูลค่าลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ให้นำเสนอครม.ขออนุมัติ

“พ.ร.บ. การท่าเรือฯ ฉบับใหม่ จะทำให้การบริหารกิจการท่าเรือเปลี่ยนไปและทำให้สามารถทำกิจกรรมหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้ ซึ่งจะสร้างมูลค่าจากการใช้ ประโยชน์พื้นที่ได้มากกว่าการให้เช่า แน่นอน ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้และผลประโยชน์กับประเทศที่จะตามมาอีกด้วย”

นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับพ.ร.บ. การท่าเรือแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ที่สำคัญให้ กทท. สามารถจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประกอบธุรกิจกับหรือเกี่ยวเนื่องในกิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาท่าเรือในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ

ดังนั้น จึงมีแนวทางที่จะให้ กทท. จัดจั้งบริษัทย่อย เพื่อต้องการให้มีการบริหารจัดการแบบเจาะจง โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉะบัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีศักยภาพระดับสากล

นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมให้ กทท. สามารถลงทุนหรือเข้าร่วมกิจการกับบุคคลอื่น หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดทั้งในและนอกราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์แก่กิจการของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ สามารถทำนิติกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง มีทรัพยสิทธิ หรือเป็นการก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์ได้ อีกทั้งกำหนดให้ กทท. มีเฉพาะอำนาจเรียกเก็บค่าภาระการใช้ท่าเรือ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ และค่าภาระต่าง ๆ ภายในอาณาบริเวณ ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยเกี่ยวกับการใช้ท่าเรือ การให้บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือ รวมทั้ง การจัดการเกี่ยวกับการสาธารณสุขและคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาณาบริเวณ

รวมทั้ง กทท. สามารถออกพันธบัตรหรือตราสารเพื่อใช้ในการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการของ กทท. ได้ และ สามารถเช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ กทท. ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปด้วย

เนื่องจากปัจจุบันกรอบยุทธศาสตร์ของการท่าเรือฯ มีการกำหนด กลยุทธ์ในการจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community ที่ต้องมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของการท่าเรือฯ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม กล่าวว่า พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่เป็นการปรับปรุงเพื่อให้การท่าเรือฯมีความคล่องตัวในการบริหารงานการพัฒนากิจการ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการท่าเรือและภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าภายใน 6 เดือน จะมีความชัดเจนว่า พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ จะมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์อย่างไร แบ่งโซนพื้นที่อย่างไร โดยจะมีการพัฒนาเป็น Smart Port และ Smart Community และพัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยว Cruise Terminal เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 68)

Tags: , , , ,
Back to Top