สิงคโปร์ประกาศมาตรการควบคุมการใช้เวลาหน้าจอของเด็กในโรงเรียนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาพร่วมกันของหลายกระทรวงที่เปิดตัวในวันนี้ (21 ม.ค.)
แถลงการณ์ร่วมของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัว ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. เป็นต้นไป สำหรับโรงเรียนเตรียมอนุบาลและโรงเรียนอนุบาล ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือนใช้หน้าจอ ส่วนเด็กอายุตั้งแต่ 18 เดือน-6 ขวบ สามารถใช้หน้าจอสำหรับการเรียนการสอนเท่านั้น
นอกจากนี้ ครูผู้สอนยังได้รับคำแนะนำว่าควรให้ความสำคัญกับ “กิจกรรมเชิงประสบการณ์” มากกว่ากิจกรรมที่อยู่นิ่งอยู่กับที่ อย่างการใช้หน้าจอและการนั่งเป็นเวลานาน ๆ
ด้านโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาก็มีการบังคับใช้มาตรการในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยกำหนดให้นักเรียนเก็บโทรศัพท์มือถือไว้ในพื้นที่ที่กำหนดระหว่างการเรียนการสอน และอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์เฉพาะในเวลาและสถานที่ที่กำหนด เช่น ในช่วงพักหรือหลังเลิกเรียน
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขข้อเสนอแนะสำหรับผู้ปกครอง โดยแนะนำให้เด็กอายุ 3-6 ขวบใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และเด็กอายุ 7-12 ขวบใช้เวลาหน้าจอไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่รวมเวลาที่ใช้หน้าจอทำการบ้าน และผู้ปกครองควรจำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์พกพาและโซเชียลมีเดียของเด็ก ๆ
มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ “Grow Well SG” ยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ของทั้งสามกระทรวง ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีขึ้นและการปกป้องเด็ก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงโภชนาการ การนอนหลับ ประสบการณ์การเรียนรู้ และการออกกำลังกาย
แถลงการณ์ระบุว่า งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ทักษะทางภาษา สุขภาพจิต และสุขภาพกายของเด็ก พร้อมชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่ในสิงคโปร์จะมีสุขภาพดี แต่การใช้หน้าจอเป็นเวลานานและการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อพัฒนาการโดยรวม
ปัจจุบัน โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี และมีแผนที่จะขยายไปยังกลุ่มอายุที่โตขึ้นในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 68)
Tags: สิงคโปร์