จากกรณีที่กรมสรรพสามิต มีแผนจะจัดเก็บ “ภาษีความเค็ม” โดยเริ่มจากสินค้าขนมขบเคี้ยวก่อน ซึ่งจะมีความชัดเจนในปี 2568 นี้ โดยกลุ่มขนมขบเคี้ยว จะถูกเก็บตามปริมาณโซเดียมต่อผลิตภัณฑ์ในอัตราภาษีแบบขั้นบันได เพื่อหวังให้ประชาชนบริโภคความเค็มลดน้อยลง โดยจะดำเนินการจัดเก็บภาษีความเค็มในรูปแบบเดียวกับภาษีความหวาน ซึ่งบังคับใช้ในประเทศไทยก่อนหน้านี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และส่งผลให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลงชัดเจน
ทั้งนี้ รัฐตั้งเป้าหมายให้คนไทยลดการบริโภคเค็มให้ได้ 30% ซึ่งเป้าหมายหลัก ๆ ของกระทรวงการคลัง ต้องการจะดูแลเรื่องสุขภาพของคนไทย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ก็มีนโยบายเป็นหลักยุทธศาสตร์ที่จะพยายามให้คนไทยลดการบริโภคเค็มลงเช่นกัน
จากข้อมูลพบว่าคนไทยได้รับโซเดียมจากการกินอาหาร 4,351.69 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา ที่สำคัญยังพบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไต หัวใจ และหลอดเลือดสมองกว่า 22 ล้านคน
คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ภายในปี 2568 ไทยควรจะต้องทำให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือ และโซเดียมลง 30% โดยจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดเกลือ และโซเดียม สร้างความรู้สร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภค การปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และผลักดันให้เป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายประชาชนมีสุขภาพดี
นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลดโรค NCDs เป็นภาระงานและความท้าทายสำคัญของระบบสาธารณสุข มีคนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs กว่า 400,000 คนต่อปี รัฐต้องสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี
นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีโซเดียมลดลง เป็นมาตรการที่สามารถลดการเสียชีวิตจากโรค NCDs ได้ดี โดยมีค่าใช้จ่ายจากฝั่งภาครัฐน้อย และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิผล ซึ่งหนึ่งในวิธีหรือมาตรการที่จะกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้ปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความเค็มน้อยลง คือ การใช้มาตรการทางภาษี และราคา โดยมีประเทศที่ได้ดำเนินมาตรการภาษีเกลือและประสบความสำเร็จ คือ ประเทศฮังการี ซึ่งผลของการดำเนินงานแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารของภาคอุตสาหกรรม และการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเกลือสูง
นอกจากนี้ มีหลายประเทศที่ได้มีการวิเคราะห์ และคาดการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพ หากมีการนำมาตรการภาษีเกลือ และโซเดียมมาปฏิบัติใช้ ซึ่งทุกการศึกษา ชี้ให้เห็นผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านสุขภาพ และความคุ้มค่าในการดำเนินมาตรการ
การมีเกณฑ์สำหรับภาษีความเค็มในประเทศไทย ที่กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับกรมสรรพสามิต ในการที่จะพิจารณาในการจัดเก็บ ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ ซึ่งเป้าหมายตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องของรายได้ แต่เน้นเรื่องสุขภาพของคนไทย หากมีการเก็บภาษีความเค็มจริง จะเก็บเฉพาะสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น เช่น สินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และโจ๊กสำเร็จรูป ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นไปที่การปรับสารอาหารให้มีปริมาณโซเดียมน้อยลง หรือใช้เกลือโซเดียมต่ำแทน
อย่างไรก็ตาม สินค้าในบางประเภท เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีข้อจำกัดในแง่ของการปรับราคา ซึ่งผู้ประกอบการเอง จะต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพราะว่าตอนนี้คนไทยรักสุขภาพมากขึ้น และหันมาบริโภคสินค้าที่ดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยปรับสูตรอาหารเพื่อลดบริโภคเค็มลงหรือโซเดียมลดลง ซึ่งเมื่อปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ลดต่ำลงในระดับที่เหมาะสมปลอดภัย ผลิตภัณฑ์นั้นก็จะไม่ถูกเก็บภาษี ทำให้ราคาสินค้าคงเดิม และยังลดต้นทุนในการใช้เกลือโซเดียมอีกด้วย
มาตรการภาษีนี้ จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิต และผู้บริโภคหันมานิยมอาหารโซเดียมต่ำ เค็มน้อย และดีต่อสุขภาพในระยะยาว ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมผู้บริโภค เลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยเราจะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ให้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามไปด้วย รวมถึงต้องให้ความรู้ความเสี่ยงในการบริโภคโซเดียมมากเกินไปด้วย
ในส่วนของกลุ่มตลาดอาหารขนมขบเคี้ยว ประกอบด้วย มันฝรั่งทอด ขนมขึ้นรูป และขนมที่ทำมาจากเนื้อปลา สาหร่าย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการของขนมสาหร่ายรายใหญ่ มีการปรับลดโซเดียมลงได้ 50% หรืออีกกลุ่ม คือ มันฝรั่งทอดรายใหญ่ ก็ลดโซเดียมลงถึง 30% ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 68)
Tags: ภาษีความเค็ม, โซเดียม