นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งกำหนดให้มีกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อเป็นกลไกในการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
มาตรการนี้ เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างภายในภาษีสรรพสามิตที่มีการคำนวณราคาคาร์บอนฝังตัวในภาษีน้ำมัน ทั้งนี้ ยืนยันว่า การกำหนดราคาคาร์บอนนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม และไม่ส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับสินค้าที่จะกำหนดกลไกราคาคาร์บอน ได้แก่
1) ประเภทที่ 01.01 น้ำมันเบนซินและน้ำมันที่คล้ายกัน ซึ่งรวมถึงแก๊สโซฮอล์ประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เป็นต้น
2) ประเภทที่ 01.03 น้ำมันก๊าดและน้ำมันที่จุดให้แสงสว่างที่คล้ายกัน
3) ประเภทที่ 01.04 น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น
4) ประเภทที่ 01.05 น้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ซึ่งรวมถึงน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลผสมอยู่ประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันดีเซล B5 น้ำมันดีเซล B7 และน้ำมันดีเซล B10 เป็นต้น
5) ประเภทที่ 01.07 ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอล.พี.จี.) ก๊าซโพรเพรน และก๊าซที่คล้ายกัน
6) ประเภทที่ 01.12 น้ำมันเตาและน้ำมันที่คล้ายกัน
2. กำหนดราคาคาร์บอนของสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งเบื้องต้นจะมีการกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า
3. กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตดังกล่าวจะพิจารณาจากราคาคาร์บอนที่กำหนดคูณกับค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ของสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ละชนิด
ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ร่างกฎกระทรวงการคลังกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. นี้ เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มีการคำนวณราคาคาร์บอนไว้เป็นส่วนหนึ่งในอัตราภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมและการสร้างมาตรฐานสากลให้กับผู้ประกอบการที่จะส่งสินค้าไปยังประเทศที่มีการบังคับใช้มาตรการการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ในหลาย ๆ ประเทศ ได้เตรียมตัวและสามารถใช้ราคาคาร์บอนนี้ในกรณีที่จะมีการจัดเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาคาร์บอนจากสินค้าที่จะนำเข้าไปในประเทศนั้น ๆ
น.ส.กุลยา กล่าวว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มตระหนักถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการใช้กลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยยืนยันว่าการกำหนดราคาคาร์บอนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมและค่าครองชีพของประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 68)
Tags: กรมสรรพสามิต, พิชัย ชุณหวชิร, ภาษีคาร์บอน