ฟิทช์คงอันดับเครดิต SGCP ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้ม “มีเสถียรภาพ”

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันของโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Note Program) มูลค่ารวมสี่หมื่นล้านบาท ของ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง [SCGP] ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCGP ที่ระดับ ‘A(tha)’ สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ SCGP ที่ ‘a(tha)’ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทแม่ ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC, อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’/ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology, PSL) ฟิทช์พิจารณาว่าบริษัทลูกสามารถมีอันดับเครดิตที่สูงกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่ได้หนึ่งอันดับ ในกรณีที่บริษัทแม่ถูกปรับลดอันดับเครดิต การพิจารณาดังกล่าวนี้เป็นไปตามการประเมินของฟิทช์ ถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงและควบคุมบริษัทลูกทางด้านการบริหารและการเงินโดยบริษัทแม่ในระดับปานกลาง เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีคณะกรรมการบริษัทที่แยกจากกัน นอกจากนี้ SCGPมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายจัดหาเงินทุนและบริหารเงินสดจากบริษัทแม่

สถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ SCGP ที่ ‘a(tha)’ สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทฯมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างสม่ำเสมอและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้สถานะทางเครดิตของ SCGP สามารถรองรับการลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท PT Fajar Surya Wisesa Tbk (Fajar) แม้กำไรจะอ่อนแอลงจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวและอุปทานที่ล้นตลาด ในขณะที่ยังคงรักษาระดับหนี้สินให้สอดคล้องกับสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทแม่อยู่ในระดับที่สูง และลดลงช้า – ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย(หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) หรือ EBITDA net leverage ของ SCC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.8 เท่า ณ สิ้นปี 2567 (ณ สิ้นปี2566: 6.1 เท่า) เนื่องจากกำไรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Fajar ฟิทช์เชื่อว่าการฟื้นตัวของกำไรอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะช่วยสนับสนุนให้ EBITDA net leverage ของ SCC ลดลงเหลือประมาณ 5.8 เท่าในปี 2568 และ 4.4 เท่าในปี 2569 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่อ่อนแอกว่าที่ฟิทช์คาดอาจทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้ของบริษัทฯล่าช้าออกไป ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิต

ฟิทช์เชื่อว่า SCC กำลังจัดทำแผนกลยุทธ์ทางเลือกในการลดหนี้สิน รวมถึงการขายสินทรัพย์ ฟิทช์เชื่อว่า SCC มีแนวโน้มสูงที่จะดำเนินการขายสินทรัพย์ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งอาจเพิ่มความยืดหยุ่นในการลดหนี้สินได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามการขายสินทรัพย์ดังกล่าวนี้ยังไม่ได้ถูกนำมารวมในประมาณการของฟิทช์เนื่องจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำเนินการ

บริษัทลูกแข็งแรงกว่าตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับ – สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP จะถูกจำกัดให้อยู่ไม่เกินหนึ่งอันดับเหนืออันดับเครดิตของ SCC ในกรณีที่บริษัทแม่ถูกปรับลดอันดับเครดิต ซึ่งเป็นไปตามมุมมองของฟิทช์ถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงและควบคุมบริษัทลูกทางด้านการบริหารและการเงินโดยบริษัทแม่ในระดับปานกลาง และกลไกการป้องกันทางกฎหมายในระดับต่ำ

ฟิทช์ประเมินข้อจำกัดในการเข้าถึงและควบคุมบริษัทลูกทางด้านการบริหารและการเงินโดยบริษัทแม่ในระดับปานกลาง เนื่องจาก ทั้ง SCC และ SCGP มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีคณะกรรมการบริษัทที่แยกจากกัน และ SCGPมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายจัดหาเงินทุนและบริหารเงินสดจากบริษัทแม่ กลไกการป้องกันทางกฎหมายอยู่ในระดับต่ำสะท้อนถึง การที่ไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายในเอกสารสัญญาทางการเงิน เช่น สัญญาเงินกู้ของ SCGP ที่จำกัดการส่งกระแสเงินสดขึ้นไปยัง SCC

ธุรกิจแพคเกจจิ้งฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป – ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCGP จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ฟิทช์เชื่อว่าราคาขายของผลิตภัณฑ์ส่งออกไปยังประเทศจีนจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทำให้อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ SCGP ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ฟิทช์ยังคาดว่าการบริโภคของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะฟื้นตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ค่าใช้จ่ายลงทุนที่ลดลงช่วยลดอัตราส่วนหนี้สิน – ฟิทช์คาดว่า EBITDA net leverage ของ SCGP จะลดลงสู่ระดับ 2.6 เท่า ณ สิ้นปี 2568 และ 2.1 เท่า ณ สิ้นปี 2569 จากที่คาดว่าอยู่ที่ระดับ 3.0 เท่า ณ สิ้นปี 2567 (สิ้นปี 2566: 1.9เท่า) โดยได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow) ที่เป็นบวกจากกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายลงทุนที่ลดลง ค่าใช้จ่ายลงทุนจะลดลงอยู่ที่ระดับประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ระหว่างปี 2568-2569 จากระดับ 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ซึ่งรวมการลงทุนเพิ่มเติมใน Fajar

ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – อันดับเครดิตของ SCGP สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำตลาด ในฐานะผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ SCGP มีกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษขั้นปลายประมาณ 6.0 ล้านตันต่อปี กำลังการผลิตสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ จากการเข้าซื้อกิจการ

ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายช่วยสนับสนุนความต้องการซื้อ – ฟิทช์คาดว่า SCGP จะเพิ่มกำลังการผลิตและความหลากหลายของสินค้าในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้า และความต้องการซื้อของลูกค้าในผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ประมาณร้อยละ 74 ของรายได้จากบรรจุภัณฑ์ของ SCGP มาจากกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการซื้อที่ค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจและมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูง นอกจากนี้ ธุรกิจของ SCGP ยังได้รับประโยชน์จากการขยายสายการผลิตสินค้าไปยังสินค้าขั้นต้น (Vertical Integration) เช่น กระดาษบรรจุภัณฑ์ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถลดผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไรจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบได้ในระดับหนึ่ง

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ใกล้เคียงกับอันดับเครดิตของ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง [SCCC] (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’/ เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา) โดยอันดับเครดิตของบริษัททั้งสองได้รับการสนับสนุนจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจของตนเอง SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทมีความอ่อนไหวในช่วงเศรษฐกิจขาลงมากกว่า SCGP เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ SCGP มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และกลุ่มธุรกิจของลูกค้าที่หลากหลายกว่า รวมถึงมีความต้องการซื้อจากลูกค้าที่มีความสม่ำเสมอมากกว่า ส่งผลให้ SCGP สามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ที่อันดับเครดิตเดียวกัน เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณาของ SCCC สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ SCCC ต่ออันดับเครดิตของ SCCC ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก

SCGP มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป [EPG] (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’/ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท EPDM, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ในเชิงรายได้ และ EBITDA EPG มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่า แต่ถูกลดทอนโดย สถานะผู้นำตลาดในธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนของ SCGP SCGP มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า EPG แต่ด้วยสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า ทำให้ SCGP มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า EPG อยู่หนึ่งอันดับ

สมมติฐานที่สำคัญ

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

– รายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4-9 ต่อปีในปี 2567-2569 (ปี 2566 ลดลงร้อยละ 11) เนื่องจากปริมาณการขาย และราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

– EBITDA Margin เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ12-13 ในปี 2567-2569 (ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 12) จากการฟื้นตัวของราคาขายและการดำเนินโครงการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง

– ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 1 หมื่นล้านต่อปีหลังจากนั้น

– อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับประมาณร้อยละ 40

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยลบ:

– การปรับลดสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP

– การประเมินข้อจำกัดในการเข้าถึงและควบคุมบริษัทลูกทางด้านการบริหารและการเงินโดยบริษัทแม่เป็นระดับต่ำ

ปัจจัยบวก:

– การปรับเพิ่มของสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP โดยอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC ไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP

ปัจจัยลบ:

– EBITDA net leverage ของ SCGP อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยบวก:

– สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้น และขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ของ SCGP โดยวัดจาก EBITDA ที่สูงขึ้น และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้นและมีประเภทสินค้าที่หลากหลายขึ้น

สำหรับอันดับเครดิตของ SCC ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตได้แสดงในรายงานอันดับเครดิตของฟิทช์ดังนี้

ปัจจัยลบ:

– บริษัทฯ ไม่สามารถทำตามปัจจัยบวกข้างต้นได้

ปัจจัยบวก:

– แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากบริษัทฯ สามารถลด EBITDA net leverage ลงมาอยู่ในระดับประมาณ 4.5 เท่าได้ภายในปี 2569

สภาพคล่อง

SCGP มีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2568 จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงเงินกู้ยืมระยะสั้นที่มีลักษณะเป็นวงเงินหมุนเวียน จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาทซึ่งฟิทช์คาดว่า SCGP จะสามารถเบิกเงินกู้ใหม่หมุนเวียนทดแทนเงินกู้เดิมได้ในการดำเนินธุรกิจตามปกติ SCGP มีเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขของฟิทช์) จำนวนประมาณ 1.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงเพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวประมาณ 6.4 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้สภาพคล่องของ SCGP ยังได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อทดแทนเงินกู้เดิมที่แข็งแกร่ง ผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงินในประเทศ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 68)

Tags: , , ,
Back to Top