นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 90.1 ปรับตัวลดลงจาก 91.4 ในเดือนพ.ย. 67 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง จากการเร่งผลิตในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับในเดือนธ.ค. มีวันทำงานน้อย และมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วมและสภาพอากาศแปรปรวนในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลง ต้นทุนราคาวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนก่อนหน้า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร
ขณะเดียวกัน อุปสงค์ในประเทศชะลอลง สะท้อนจากยอดขายสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ในเดือนพ.ย. 67 หดตัว 31.34% นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อ สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง หดตัวลงจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ขณะที่กลุ่มพลังงาน ชะลอลงตามคำสั่งซื้อซื้อที่ลดลง รวมไปถึงกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคยังเปราะบาง จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังบั่นทอนความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน และผู้ผลิตเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยลดลง
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธ.ค. ยังมีปัจจัยบวกจากผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น รวมถึงผลจากการจัดทำ FTA ไทย-EFTA (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป) ได้สำเร็จ ขณะที่ผู้ประกอบการมีการใช้สิทธิ์ FTA ในช่วง (ม.ค.-ก.ย. 67) คิดเป็น 85.58% เพิ่มขึ้น 2.11%YoY ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ประกอบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และอยู่ในช่วงขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งการท่องเที่ยวก็มีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ อาทิ การยกเว้นบัตร ตม.6 ในด่านทางบก การพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว (Ease of Traveling) บน Web Portal : Entry Thailand รวมถึงการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมากยิ่งขึ้น
“เนื่องจากมีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวกจึงส่งผลให้ค่าดัชนีเดือน ธ.ค.ปรับตัวลดลงมา” นายเกรียงไกร กล่าว
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจาก 96.7 ในเดือนพ.ย. 67 โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวล คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นในอัตราวันละ 7 – 55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) ส่งกระทบต่อต้นทุนแรงงานของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ตามนโยบาย Trump 2.0 อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0 และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทเฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 1/2568 และแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1. เสนอให้ภาครัฐจัดตั้ง War Room เพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทยและรับมือกับผลกระทบทางอ้อม รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายตลาดกับสหรัฐฯ
2. ให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.68 ที่ผ่านมา
3. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรม
4. เร่งขยายผลความสำเร็จจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย – EFTA ไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อขยายโอกาสทางการค้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 68)
Tags: ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม, น้ำท่วม, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, เกรียงไกร เธียรนุกุล