บีโอไอ ปรับเกณฑ์ LTR Visa ดึงต่างชาติศักยภาพสูงเข้าไทย ยกระดับสู่ Talent โลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของวีซ่าชนิดพิเศษ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของประเทศ ที่จะช่วยดึงดูดบุคลากรต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย

สอดคล้องกับแนวโน้มการโยกย้ายฐานการลงทุนทั่วโลก อันเนื่องมาจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างมากขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานการทำงาน และการพำนักระยะยาวของบุคลากรต่างชาติ ซึ่งประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญของกลุ่มนักลงทุน และบุคลากรคุณภาพสูงจากทั่วโลก

“การดึงดูดบุคลากรในกลุ่มนี้ เป็นโอกาสที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจ เกิดเม็ดเงินในการใช้จ่ายของชาวต่างชาติกระจายไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับไทยสู่ศูนย์กลาง Talent ระดับโลกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

LTR Visa เป็นวีซ่าชนิดพิเศษที่รัฐบาลได้มอบหมายให้บีโอไอเป็นผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม เข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ 1) ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (Highly Skilled Professionals) 2) ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานจากประเทศไทยให้กับนายจ้างในต่างประเทศ (Work-from-Thailand Professionals) 3) ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) และ 4) ผู้เกษียณอายุ (Wealthy Pensioners) รวมทั้งผู้ติดตาม

โดยจะสามารถพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ อีกทั้งจะได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษเหลือ 17% และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจากปกติทุก 90 วัน เป็นปีละ 1 ครั้งด้วย

สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของ LTR Visa ครั้งนี้ เป็นผลมาจากการหารือร่วมกับหอการค้าต่างประเทศ และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (คสดช.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) ขยายขอบเขตของอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ให้ครอบคลุมอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้มาช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรไทย

2) ยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ และผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานจากประเทศไทยให้กับนายจ้างในต่างประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับคุณสมบัติอื่น ๆ ที่แสดงถึงความรู้ความสามารถ และศักยภาพของชาวต่างชาติทั้ง 2 ประเภทได้ดีอยู่แล้ว เช่น รายได้ขั้นต่ำ วุฒิการศึกษา การทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และความมั่นคงของนายจ้างในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความน่าดึงดูดของมาตรการและสามารถเข้าถึงกลุ่ม Talent จำนวนมากขึ้น

3) ผ่อนคลายข้อกำหนดด้านรายได้ สำหรับบริษัทนายจ้างในต่างประเทศของผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานจากประเทศไทย จากเดิมกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 150 ล้านดอลลาร์ ปรับเป็น 50 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และให้รวมถึงบริษัทลูกที่มีบริษัทแม่ ซึ่งมีรายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 50 ล้านดอลลาร์ถือหุ้นทั้งสิ้นด้วย เพื่อให้สามารถเข้าถึงพนักงานทักษะสูงของทั้งบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และบริษัทที่กำลังเติบโต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประเทศไทยยังขาดแคลน

4) ยกเลิกข้อกำหนดด้านรายได้ สำหรับกลุ่มผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง จากเดิมกำหนดรายได้ส่วนบุคคล 80,000 ดอลลาร์/ปี โดยจะมาให้ความสำคัญกับทรัพย์สินที่มั่นคง และการลงทุนระยะยาวในประเทศไทย (ไม่น้อยกว่า 500,000 ดอลลาร์) ของชาวต่างชาติกลุ่มนี้ มากกว่าการพิจารณารายได้ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น

5) ขยายสิทธิสำหรับผู้ติดตาม จากเดิมกำหนดเพียงคู่สมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ครอบคลุมถึงพ่อแม่ และผู้อยู่ในอุปการะ โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ติดตาม เช่นเดียวกับวีซ่าอีกหลายประเภท เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจของมาตรการ สำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์ให้ครอบครัวเข้ามาพำนักในประเทศไทยด้วยกัน และยังช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศของสมาชิกครอบครัวชาวต่างชาติอีกด้วย

ปัจจุบัน บีโอไอได้อนุมัติ LTR Visa ให้กับบุคลากรต่างชาติศักยภาพสูงแล้วทั้งสิ้นกว่า 6,000 รายจากทั่วโลก โดยกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ยุโรป (2,500 คน) รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ (1,080 คน) ญี่ปุ่น (610 คน) จีน (340 คน) และอินเดีย (280 คน)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 68)

Tags: , , ,
Back to Top