นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือนธ.ค. 67 อยู่ที่ 57.9 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 51.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 55.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 67.0 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกัน
สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25%
2. รัฐบาลดำเนินมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งการช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท, แจกเงินหมื่นให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งมาตรการ Easy E-receipt และมาตรการแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย”
3. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคปรับตัวขึ้น
ทั้งนี้ ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้ หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่อง และไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติม ทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ซึ่งเป็นระดับปกติ เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง จากสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทย และการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะค่อย ๆ กลับมาดีขึ้น จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจเริ่มกลับมา เพียงแต่ยังอยู่ภายใต้ความมั่นใจในปัจจุบันที่ยังต่ำกว่าระดับปกติ (ค่าปกติ = 100) โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องกันในช่วง 3 เดือน ซึ่งจะเห็นได้จากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในเทศกาลต่าง ๆ ที่ผ่านมา ทั้งเทศกาลลอยกระทง เทศกาลปีใหม่ และวันเด็ก ซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปีก่อน
“แม้ตอนนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมองว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่ค่อยดี แต่ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาดีขึ้น จะเห็นได้จากการใช้จ่ายช่วงลอยกระทง, ปีใหม่, วันเด็ก และเรากำลังรอดูช่วงเทศกาลตรุษจีน ว่าจะดีต่อเนื่องหรือไม่” นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมมองว่า เริ่มเห็นความแตกต่างของพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจะพบว่าผู้มีรายได้ปานกลาง ขึ้นไป กลับไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย โดยจะเห็นได้จากยอดซื้อสินค้าคงทนโตชะลอลง เช่น บ้าน, รถยนต์ ในขณะที่ผู้ที่มีรายได้น้อย จะกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากการได้รับเงินโอน 10,000 บาท จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
“ตอนนี้ จะเห็นว่า K-shape กลับหัว คือ คนที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย กล้าใช้จ่ายมากขึ้น อาจเป็นเพราะค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น เงินถูกหมุนลงไปในโครงการ 10,000 บาท การท่องเที่ยวเริ่มกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ แต่คนที่ไม่กล้าใช้จ่าย กลับกลายเป็นกลุ่มคนรายได้ปานกลางขึ้นไป ดูจากการใช้จ่ายสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถ ยังมีแนวโน้มติดลบ” นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/68 จะยังเติบโตได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผลของความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ภายใต้นโยบายประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ, ผลกระทบจากกรณีรัสเซียถูกแซงชั่นจากสหรัฐ ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนราคาพลังงานโลกให้สูงขึ้น และมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ตลอดจนผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจีน ภายหลังเกิดเหตุดาราจีนถูกลักพาตัว ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้
“ต้องเช็คว่าบรรยากาศในช่วงตรุษจีนปีนี้ คนจีนจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากน้อยแค่ไหน รัฐบาลไทย และ ททท. จะต้องเช็ค เพราะคนจีนเป็นแกนนำสำคัญในการมาท่องเที่ยวไทย ถ้าการท่องเที่ยวไทยมีอุปสรรค อาจทำให้แรงเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะแผ่วไปได้” นายธนวรรธน์ ระบุ
อย่างไรก็ดี คาดหวังว่ามาตรการ Easy E-receipt ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนม.ค.-สิ้นเดือนก.พ.นี้ รวมทั้งเงิน 10,000 บาท ให้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1
“หอการค้าฯ อยากเห็นมาตรการคูณสอง เข้ามาช่วยด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 1 ดังนั้นไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 เป็นตัวชี้เศรษฐกิจปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเราคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ราว 3% บวก/ลบเล็กน้อย…ณ ตอนนี้ ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นดีขึ้น หมายถึงเศรษฐกิจจะถูกเคลื่อนโดยการจับจ่ายใช้สอยที่จะดีขึ้นในไตรมาส 1 ถ้ามีมาตรการเสริม แต่สิ่งที่จะ confirm ว่าเศรษฐกิจฟื้นหรือไม่ ต้องดูจากสัญญาณของภาคธุรกิจด้วย นั่นคือ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ซึ่งยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าดีขึ้น แต่แค่เริ่มติดลบน้อยลง โดยมองว่าแม้ปัจจุบันยังแย่ แต่อนาคตยังมีความหวังว่าจะบวกขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า สัญญาณเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะฟื้นหรือไม่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะดีขึ้นหรือไม่ สามารถชี้วัดได้ในไตรมาส 1 จุดเปราะบางของเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จะมีความเสี่ยงรุนแรง หรือจะเติบโตน้อยลงหรือไม่ สามารถเช็คได้จากไตรมาสที่ 2 จากปัจจัยสำคัญ 2 ตัว คือ สงครามการค้ารุนแรงหรือไม่ และการเมืองไทยจะมีปัญหาหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 68)
Tags: CCI, กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ดอกเบี้ยนโยบาย, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, อุมากมล สุนทรสุรัติ, เศรษฐกิจไทย