KTB คาด GDP ปี 68 โต 2.7% จับตา 5 ประเด็นสำคัญ จุดพลิกผันเศรษฐกิจไทย

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Cheif Economist ธนาคารกรุงไทย [KTB] กล่าวว่า Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 68 ว่าจะขยายตัวได้ 2.7% โดยที่ยังคงมีแรงกดดันจากประเด็นสงครามการค้าที่กลับมาเร่งตัวขึ้น และความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออกปีนี้ อาจขยายตัวเพียง 2% ชะลอลงจากปีก่อน แม้ว่าในครึ่งปีแรก คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี แต่ความชัดเจนของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะกลับมากดดันการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างด้านการส่งออกสินค้า ที่ยังอยู่ท่ามกลางการตีตลาดที่รุนแรง และขยายวงมากขึ้นจากปัจจัย Oversupply ในจีน

สำหรับภาคการท่องเที่ยว จะยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 ที่ 39 ล้านคน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เติบโต โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต

ขณะที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่จะทยอยดำเนินการในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 และเฟส 3 รวมถึงมาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก มีโมเมนตัมและเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีความจำเป็นที่ภาครัฐอาจต้องพิจารณามาตรการเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจ

Krungthai COMPASS มองว่า ปี 68 เป็นปีแห่งจุดพลิกผันสำคัญ (Inflection point) ของเศรษฐกิจไทย โดยมีความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ในหลากหลายมิติ ดังนี้

1. สงครามการค้ารอบใหม่ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่เกินดุลการค้าระดับสูงจากสหรัฐฯ มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุตสาหกรรม ที่อาจถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 40-60%

2. เศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ถึง 48% ของ GDP ทำให้จำเป็นต้องเร่งผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบมากขึ้น เพื่อพลิกศักยภาพเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น

3. อุตสาหกรรมยานยนต์ ภายใต้ Perfect Storm ที่รถยนต์สันดาปยากจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรือง โดยคาดว่ายอดผลิตรถยนต์ของไทยในปี 68-69 จะอยู่ที่ 1.47-1.53 ล้านคัน/ปี ลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีตกว่า 15% จากปัจจัยด้านกำลังซื้อครัวเรือนไทย กระแส EV และการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง

4. พลิกโฉมการท่องเที่ยวด้วย Man-made Destination เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ และเพิ่มเม็ดเงินท่องเที่ยวให้สะพัดมากขึ้น ซึ่งคาดว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวนต่างชาติ กลุ่ม Man-made ในไทย ปี 68 จะอยู่ที่ราว 58,300 บาท/คน/ทริป สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปราว 19%

5. ปลดพันธนาการที่เหนื่ยวรั้งเศรษฐกิจไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในระดับสูง หนี้ครัวเรือนที่เมื่อรวมกับหนี้นอกระบบแล้ว สูงถึง 104% ของ GDP ซึ่งต้องยกระดับรายได้ และ Safety Net ของครัวเรือนอย่างเป็นระบบ สอดรับกับมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการก้าวทันกระแสโลก และลดอุปสรรคในการทำธุรกิจ อาทิ Regulatory Guillotine เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

“Krungthai COMPASS มองว่าปี 68 เป็นจุดพลิกผัน หรือ Inflection Point ของเศรษฐกิจไทย ที่เป็นทั้งความท้าทาย และโอกาส ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ในการตั้งคำถามและหาแนวทางในการยกระดับรายได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต่อยอดจากนโยบายระยะสั้น ที่ได้ช่วยกระตุกเศรษฐกิจไทยไปแล้วไปปี 67 ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน” นายพชรพจน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 68)

Tags: , , , , ,
Back to Top