มาตรการสหรัฐฯ จำกัดการส่งน้ำมันรัสเซียสู่จีน-อินเดีย ส่อทำราคาน้ำมัน-ค่าระวางพุ่ง

บรรดานักวิเคราะห์และผู้ค้าน้ำมันคาดว่า โรงกลั่นของจีนและอินเดียจะหันไปนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง แอฟริกา และทวีปอเมริกาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะผลักดันทั้งราคาน้ำมันและค่าระวางให้พุ่งสูงขึ้น สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าไปที่ผู้ผลิตและเรือขนส่งน้ำมันของรัสเซีย ส่งผลให้การจัดส่งน้ำมันไปยัง 2 ลูกค้ารายใหญ่ของรัสเซียอย่างจีนและอินเดียต้องสะดุดลง

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 ม.ค.) ว่าจะคว่ำบาตรบริษัทผู้ผลิตน้ำมันของรัสเซียอย่างก๊าซพรอม เนฟต์ (Gazprom Neft) และซูร์กุตเนฟเตกัส (Surgutneftegas) รวมถึงเรือบรรทุกน้ำมัน 183 ลำที่เคยขนส่งน้ำมันรัสเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดกั้นรายได้ที่รัสเซียนำไปใช้ทำสงครามกับยูเครน

เรือเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ขนส่งน้ำมันไปยังอินเดียและจีน เพราะมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและการกำหนดเพดานราคาน้ำมันโดยกลุ่ม G7 ในปี 2565 ทำให้การค้าน้ำมันของรัสเซียเบนเข็มจากยุโรปมาสู่เอเชีย อีกทั้งเรือบางลำยังถูกใช้ขนส่งน้ำมันจากอิหร่าน ซึ่งก็เป็นอีกประเทศที่ถูกคว่ำบาตรเช่นกัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในแวดวงการค้าน้ำมันของจีนสองรายว่า มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่นี้จะกระทบการส่งออกน้ำมันของรัสเซียอย่างรุนแรง และจะบีบให้โรงกลั่นอิสระของจีนต้องลดกำลังการผลิตลงในอนาคต

ความกังวลต่อการชะงักงันของอุปทานน้ำมันจากรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งแตะจุดสูงสุดในรอบหลายเดือนในวันนี้ (13 ม.ค.) โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะลุระดับ 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แมตต์ ไรท์ นักวิเคราะห์ด้านการขนส่งจากเคปเลอร์ (Kpler) ระบุในรายงานว่า ในจำนวนเรือที่ถูกคว่ำบาตรครั้งใหม่นี้ มีเรือบรรทุกน้ำมัน 143 ลำที่เคยขนส่งน้ำมันดิบของรัสเซียกว่า 530 ล้านบาร์เรลในปีที่แล้ว คิดเป็น 42% ของการส่งออกน้ำมันดิบทางทะเลทั้งหมดของรัสเซีย โดยราว 300 ล้านบาร์เรลถูกส่งไปจีน ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่มีอินเดียเป็นปลายทาง

“มาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้จะทำให้กองเรือที่พร้อมขนส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียลดลงอย่างมากในระยะสั้น ซึ่งจะผลักดันค่าระวางเรือให้พุ่งสูงขึ้น” ไรท์กล่าว

ผู้ค้าน้ำมันในสิงคโปร์รายหนึ่งเปิดเผยว่า เรือบรรทุกน้ำมันที่ถูกคว่ำบาตรเหล่านี้เคยขนส่งน้ำมันดิบของรัสเซียไปยังจีนราว 900,000 บาร์เรลต่อวันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่า “ปริมาณการขนส่งจะดิ่งลงอย่างรวดเร็ว”

ในช่วง 11 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ระดับ 1.764 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 36% ของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด ขณะที่จีนมีปริมาณนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย รวมถึงที่ส่งผ่านท่อ เพิ่มขึ้น 2% อยู่ที่ 99.09 ล้านเมตริกตัน (2.159 ล้านบาร์เรลต่อวัน) หรือ 20% ของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน

อนึ่ง จีนนำเข้าน้ำมันดิบส่วนใหญ่เป็นเกรด ESPO Blend จากรัสเซีย ซึ่งมีราคาสูงกว่าเพดานที่กำหนด ในขณะที่อินเดียเน้นนำเข้าน้ำมันดิบเกรด Urals

เอ็มมา ลี นักวิเคราะห์จากวอร์เท็กซา (Vortexa) คาดว่า การส่งออกน้ำมันดิบ ESPO Blend ของรัสเซียจะต้องหยุดชะงักหากมีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มงวด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ จะยกเลิกมาตรการนี้หรือไม่ และจีนจะยอมรับมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวหรือไม่

แหล่งข่าวระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรใหม่จะทำให้จีนและอินเดียต้องกลับเข้าสู่ตลาดน้ำมันที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ โดยมองหาแหล่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง แอฟริกา และทวีปอเมริกามากขึ้น

ราคาน้ำมันในตลาดสปอตจากแหล่งตะวันออกกลาง แอฟริกา และบราซิล ได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากจีนและอินเดีย ในขณะที่การจัดหาน้ำมันจากรัสเซียและอิหร่านเริ่มตึงตัวและมีราคาแพงขึ้น

เจ้าหน้าที่โรงกลั่นน้ำมันของอินเดียรายหนึ่งกล่าวว่า “ราคาน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางก็เริ่มปรับตัวขึ้นแล้ว … ตอนนี้เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง หรือบางทีอาจต้องหันไปพึ่งน้ำมันจากสหรัฐฯ ด้วย”

แหล่งข่าวจากโรงกลั่นอีกแห่งหนึ่งของอินเดียระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรต่อบริษัทประกันภัยน้ำมันของรัสเซีย อาจทำให้รัสเซียต้องลดราคาน้ำมันดิบลงต่ำกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อให้ยังสามารถใช้บริการประกันภัยและเรือบรรทุกน้ำมันของชาติตะวันตกต่อไปได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 68)

Tags: , , , , , ,
Back to Top