จู เฮ่อซิน รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ภาคการเงินของจีนจะส่งเสริม “การเงินสีเขียว” (Green Finance) ให้เติบโตอย่างมั่นคง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำของรัฐบาลจีน โดยมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพของการเงินสีเขียวในการสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและการยกระดับอุตสาหกรรม
ในระหว่างการประชุมส่งเสริมบริการการเงินสีเขียวซึ่ง PBOC จัดขึ้นร่วมกับกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเมื่อวันพุธ (8 ม.ค.) จูกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดทำแผนและระบบสนับสนุนที่เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อกำหนดทิศทางหลักในการดำเนินการด้านการเงินสีเขียว พร้อมทั้งกล่าวว่า สถาบันการเงินต่าง ๆ ควรสนับสนุนการวิเคราะห์และวิจัยอุตสาหกรรมสีเขียวที่สำคัญ ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
ด้านนายจ้าว หยิงหมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการประชุมว่า “ปัจจุบัน ยังคงมีความต้องการเงินทุนจำนวนมากเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำอย่างครอบคลุม และสร้างประเทศจีนที่สวยงาม” ด้วยเหตุนี้ จึง จำเป็นต้องเสริมสร้างผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินสีเขียว สนับสนุนโครงการนำร่องด้านการเงินและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ และสำรวจรูปแบบการสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการปกป้องสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมเมื่อวันพุธ บริษัท 6 แห่งได้ลงนามในสัญญาว่าด้วยการเงินสีเขียวกับสถาบันการเงิน ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 1.3 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ครอบคลุมโครงการบำบัดน้ำเสีย การผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ การฟื้นฟูชนบท ฯลฯ
“การสร้างประเทศจีนที่สวยงาม” (Building a Beautiful China) เป็นหนึ่งในแผนงานที่จีนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปฏิรูปประเทศอย่างครอบคลุม ทั้งนี้ ตามมติที่ได้รับการรับรองในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 นั้น จีนจะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียวในทุกด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม
ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 จีนมียอดคงค้างของสินเชื่อสีเขียว (Green Loans) สูงกว่า 35 ล้านล้านหยวน และตราสารหนี้สีเขียวที่ออกแล้วมีอยู่เกือบ 2 ล้านล้านหยวน ซึ่งอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 68)
Tags: ESG, ธนาคารกลางจีน, ธุรกิจคาร์บอนต่ำ, ธุรกิจสีเขียว