เช็คลิสต์! คมนาคม เตรียมชงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เสนอ ครม.ปี 68

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 2568 กระทรวงคมนาคม จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในเดือนมิ.ย.68 ตามนโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกสายซึ่งจะสามารถจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมฯ ส่วนเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ของเอกชนจากการลดค่าโดยสารเหลือไม่เกิน 20 บาทตลอดสายนั้น จะใช้เงินประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งประเมินแล้วมีเพียงพอ และในปีต่อไปอาจจะมีการจัดสรรงบประมาณบางส่วนมาช่วยจ่ายชดเชย

นอกจากนี้ จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ซึ่งเป้าหมายสำคัญ เพื่อทำให้เอกชนเข้ามาร่วมใช้ทางรถไฟ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่ากับการลงทุนก่อสร้าง

แลนด์บริดจ์

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ถือเป็นโครงการเรือธงของรัฐบาล ตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมา ได้เดินทางไปโรดโชว์กับประเทศต่างๆ และได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก ทั้งทางตะวันออกกลาง ยุโรป และจีน

ส่วนการขับเคลื่อนโครงการนั้น จะต้องมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ… หรือ พ.ร.บ. SEC ขณะนี้ได้ประสานกับคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อประชุมพิจารณามอบอำนาจให้ สนข. เป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC และจะผลักดันให้เกิดภายในรัฐบาลชุดนี้

เตรียมชงครม.ในปี 68
  • ด้านขนส่งทางราง ได้แก่

1. โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงตลิ่งชัน -ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 20.5 กม. วงเงินโครงการ 15,176 ล้านบาท โดยเป็นการขอทบทวนมติ ครม. และขออนุมัติกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ โดยในแผนงานจะเปิดให้บริการเดือนต.ค.71

2. โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,310 กม. วงเงินลงทุนรวม 297,926 ล้านบาท ซึ่งผ่านขั้นตอนสอบถามความเห็นหน่วยงาน และสำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบแล้ว ส่วนกระทรวงการคลัง จะให้ความเห็นตอบกลับภายในสัปดาห์หน้า เหลือสภาพัฒน์ที่รอกระบวนการการนำเสนอบอร์ดสภาพัฒน์พิจารณา โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการลงทุนรถไฟทางคู่ระยะ 2 ต่อภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รวมถึงหลังก่อสร้างทางคู่แล้ว จะมีแนวทางในการให้เอกชนเข้ามาร่วมใช้ทางเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน โดยจะขับเคลื่อนภายใต้ พ.ร.บ.ขนส่งทางราง

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง ประกอบด้วย

1) เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.54 กม. วงเงินลงทุน 81,143 ล้านบาท

2) เส้นทาง ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 307.60 กม. วงเงินลงทุน 44,095 ล้านบาท

3) เส้นทาง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 44.50 กม. วงเงินลงทุน 7,772 ล้านบาท

4) เส้นทาง ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168.20 กม. วงเงินลงทุน 30,422 ล้านบาท

5) เส้นทาง สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงินลงทุน 66,270 ล้านบาท

6) เส้นทาง เด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงินลงทุน 68,222 ล้านบาท

3. โครงการจัดหารถสินค้าบรรทุถกตู้คอนเทนเนอร์ (บทต.) พร้อมอะไหล่ จำนวน 946 คัน วงเงิน 2,460 ล้านบาท

4. โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. มูลค่า 341,351 ล้านบาท ซึ่งสถานะปัจจุบันอยู่ขั้นตอนเสนอต่อกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 เป็นเส้นทางยุทธศาตร์ ที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนเฟสแรก จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไปแล้ว หากไม่ทำเฟส 2 การต่อเส้นทางไปที่หนองคาย และต่อไปยัง สปป.ลาว และจีน อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้ใช้ประโยชน์ในเส้นทางได้ไม่เต็มที่ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ม.ค.68 ได้หารือกับสภาพัฒน์ แล้วว่านายกรัฐมนตรี มีกำหนดจะเดินทางไปประเทศจีน ขอให้ทางสภาพัฒน์เร่งสรุปโครงการ เพื่อจะได้มีความมั่นใจกับรัฐบาลในการไปหารือกับจีนด้วย

  • โครงการมอเตอร์เวย์ และทางด่วน ได้แก่

1. มอเตอร์เวย์ M9 สายถนนวงแหวน รอบนอก กรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงิน 15,862 ล้านบาท

2.โครงการมอเตอร์เวย์ M9 เชื่อมวงแหวนตะวันตก-ตะวันออก วงเงิน 4,101 ล้านบาท

3. ทางหลวงแนวใหม่เชื่อมมอเตอร์เวย์ M6-ทล.32 วงเงิน 5,495 ล้านบาท

4. โครงการทางพิเศษ จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง ของ กทพ.ภูเก็ต หรือโครงการอุโมงค์ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. มูลค่าประมาณ 16,757 ล้านบาท

5. โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก หรือทางด่วนตอน N2 เดิม ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท

  • โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) จำนวน 1,520 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 15,355 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 68)

Tags: , , , , ,
Back to Top