นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 68 โดยกล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 67-9 ม.ค. 68 ในภาพรวมพบจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 37.5 มคก./ลบ.ม. หรือระดับสีส้ม จำนวน 53 จังหวัด โดยวันนี้ พบเกินมาตรฐานระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสีแดง (75 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เพชรบุรี สมุทรสาคร สระบุรี นครปฐม พิษณุโลก นนทบุรี สมุทรปราการ ระยอง สมุทรสงคราม และราชบุรี
ทั้งนี้ ค่าฝุ่นมีแนวโน้มจะเกินมาตรฐานไปจนถึงวันที่ 15 ม.ค. 68 เนื่องจากการระบายอากาศต่ำ ทำให้มีสภาพอากาศปิด รวมทั้งพบจุดความร้อนทั้งในประเทศ และต่างประเทศสูงขึ้น ฝุ่นละอองจึงมีแนวโน้มสะสมมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. ปริมณฑล ภาคกลาง และภาคเหนือ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อโรคมะเร็ง ทั้งยังทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยลดลง 1.78 ปี
สธ. จึงมีการเฝ้าระวังแจ้งเตือนประชาชนเมื่อค่าฝุ่นสูง และเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพ โดยมีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ 38 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กเล็ก รวม 15 ล้านคน โดยมีมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตามระดับความรุนแรงของค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง ทั้งหมด 4 มาตรการ ได้แก่
1. การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยติดตามสถานการณ์และประชาสัมพันธ์เชิงรุก เน้นการสื่อสาร และแจ้งเตือนผ่านระบบดิจิทัล เช่น Platform หมอพร้อม, SMART อสม. ครอบคลุมทั้งประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
2. การลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจาก PM 2.5 จัดทำห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการและพื้นที่เสี่ยง และสนับสนุน “มุ้งสู้ฝุ่น” รวมถึงพิจารณา Work From Home สำหรับกลุ่มเปราะบางเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
3. การจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยขยายเครือข่ายบริการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุม ทั้งคลินิกมลพิษทางอากาศ คลินิกเวชกรรมสิ่งแวดล้อม ให้คำปรึกษาคลินิกมลพิษออนไลน์ จัดระบบนัดหมายคลินิกมลพิษผ่านระบบหมอพร้อม และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่/ ทีมปฏิบัติการดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบาง เช่น ชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียนประจำ เป็นต้น
4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ หากสถานการณ์รุนแรง ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในทุกระดับ และส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ใช้พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ในการควบคุมฝุ่นละออง
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ใน 56 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมีห้องปลอดฝุ่นแล้ว 4,700 ห้อง แบ่งเป็นสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข 3,009 ห้อง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/ โรงเรียน 858 ห้อง อาคารสำนักงาน 457 ห้อง และร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ 376 ห้อง ส่วนมุ้งสู้ฝุ่นที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นภายในบ้านมีการกระจายใน 34 จังหวัด รวม 1,338 ชุด โดยจะมีการสนับสนุนหน้ากากอนามัย และมุ้งสู้ฝุ่น ที่จุดเสี่ยงและหน่วยบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม
สำหรับการเฝ้าระวังโรคจากการรับสัมผัสฝุ่น PM 2.5 จะดำเนินการผ่านระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข โดยเฝ้าระวังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคผื่นลมพิษ และกลุ่มโรคตาอักเสบ นอกจากนี้ จะคัดกรองสุขภาพเชิงรุก และรวบรวมข้อมูลผู้รับบริการในร้านขายยาเมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. และคัดกรองเชิงรับในหน่วยบริการเมื่อค่าฝุ่นมากกว่า 37.5 มคก./ลบ.ม. ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 68)
Tags: ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นละออง, มลพิษทางอากาศ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, โอภาส การย์กวินพงศ์