มองมุมต่าง: วิธีเลือกหุ้นไอพีโอ กับ ความท้าทายที่ “ผู้ลงทุน” ต้องรับผิดชอบ

เปิดศักราชใหม่ปี 2568 ความท้าทายของคัดเลือกหุ้นสำหรับการลงทุนถือเป็นการบ้านที่ผู้ลงทุนทุกคนต้องให้ความสำคัญ จากบทเรียนที่เป็นตัวอย่างของหุ้นไอพีโอในปีที่ผ่านมา 2567 ที่มีหุ้นใหม่เข้าทั้งสิ้น 32 บริษัท โดยแบ่งเป็นหุ้นไอพีโอที่ต่ำจอง 23 บริษัท และเหนือจอง 9 บริษัท

โดยความน่าสนใจอยู่ที่ 9 บริษัท หรือคิดเป็น 28% ของหุ้นไอพีโอที่เข้ามาที่มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนที่เป็น Capital Gain ในระดับ 23-400% และอยู่เหนือความคาดหมายเกินกว่าที่หุ้นในกลุ่ม SET100 จะสามารถทำได้

ในขณะที่ด้านความเสียหายของหุ้นไอพีโออีก 23 บริษัท หรือคิดเป็น 72% ที่เป็น Capital Loss มีระดับความเสียหายตั้งแต่ติดลบ 1-70% แต่ถือว่ายังน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในหุ้นกลุ่ม SET100 คัดเฉพาะ 24 อันดับแรกที่เสียหายมากที่สุดมาเปรียบเทียบกัน

สรุปการลงทุนในหุ้นไอพีโอมีความเสี่ยงที่จะรับ Loss น้อยกว่า และตัวเลข Gain มีสูงกว่าหุ้นกลุ่ม SET100 นั้น ทำให้เกิดมุมมองการลงทุนในปีนี้ว่า “วิธีคัดเลือกหุ้นไอพีโอจะต้องดูอะไรบ้าง?”

1. ผู้ลงทุนจะต้องศึกษารายละเอียดข้อมูลธุรกิจของบริษัทให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอยู่ในอุตสาหกรรมไหน? ธุรกิจหลักที่ดำเนินอยู่เป็นธุรกิจ Sun rise? หรือ Sun set? สามารถหาอ่านได้จากหนังสือชี้ชวน (Filing) จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. (www.sec.or.th) ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนทราบข้อมูลดังต่อไปนี้

– ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลักที่ทำอยู่มีลักษณะใด, กลุ่มลูกค้าเป็นใคร, ความสามารถในการเติบโต, บริษัทนี้ทำธุรกิจมายาวนานแค่ไหน, ทีมผู้บริหารมีอายุที่เหมาะสมกับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตหรือไม่?

หากเป็นธุรกิจกงสี หรือ Family Business ต้องอ่านเจตนารมณ์ของการเข้ามาระดมทุนว่าต้องการแบ่งสมบัติแล้วแยกย้าย หรือ ลูกหลานตั้งใจจะมาสืบทอดความมั่งคั่งของธุรกิจวงศ์ตระกูลให้ยั่งยืนต่อไป

– วิเคราะห์งบการเงิน ทั้งในส่วนของผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่เปิดเผย 3 ปีย้อนหลัง เพื่อให้ทราบถึงความสามารถในการทำกำไร GP, NP, ROE เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม รวมถึงการเติบโตในอนาคต

– ฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนและการบริหารจัดการด้านหนี้สินยังไงบ้าง D/E เท่าไหร่ มีการบริหารจัดการทางการเงินอย่างไร มี stock หรือลูกหนี้มากน้อย และมี stock loss หรือหนี้เสียมากน้อย บางครั้งสินค้ามีอายุอาจจะมีการเสื่อมสภาพหรือขายไม่ได้เพราะตกเทรนด์ก็อาจจะกลายเป็นผลขาดทุนในอนาคต

อีกทั้ง อาจต้องพิจารณาถึงธุรกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย เช่น ก่อนที่บริษัทจะเข้าตลาดหุ้น อาจมีเงินกู้จากสถาบันการเงินก้อนโตมาจ่ายปันผลก่อนเข้าตลาดไม่เกิน 6 เดือนหรือไม่? เนื่องจากบริษัทเหล่านี้สามารถปันผลให้กับผู้บริหารในส่วนที่ก่อร่างสร้างกิจการขึ้นมาก่อนล่วงหน้า 1-2 ปีก็สามารถทำได้ แต่เนื่องจากอาจจะทำให้งบการเงินไม่สวยงามเลยต้องมาปันผลก่อนเข้าตลาดไม่กี่เดือน และโยนภาระต้นทุนดอกเบี้ยมาแชร์ให้กับผู้ลงทุนรายย่อย แบบนี้ต้องระมัดระวัง

– วัตถุประสงค์การใช้เงินและแผนงาน มีความสอดคล้องที่เหมาะสมกัน และเป็นผลดีต่อบริษัทหรือไม่ และแม้จะเป็น Project ที่น่าสนใจอย่างการลงทุนในต่างประเทศก็ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงด้วย อย่าหลงคิดว่าจะดีทั้งหมด

อีกกรณีต่อจากตัวอย่างเรื่องการก่อหนี้เพื่อจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นเดิม พอได้เงินระดมทุนไอพีโอก็เอาไปจ่ายหนี้ที่กู้มา เท่ากับว่าระดมทุนไปไม่ได้นำไปพัฒนาธุรกิจ หรือขยายกิจการ เนื่องจาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัทพยายามผลักดันให้เอาหุ้นเข้าตลาดเพื่อปลดภาระหนี้ที่ติดค้างไว้ ทำให้เม็ดเงินระดมทุนกลายเป็นถูกนำไปลดหนี้ (DE) ที่เจ้าของก่อขึ้น และไม่ได้เพิ่มกำไรให้กับบริษัท (EPS) แถมสวนทางกับการตั้งราคาหุ้นไอพีโอ

-ข้อมูลการขายหุ้นเดิมที่เอามารวมกับหุ้นไอพีโอ ทำให้เงินระดมทุนไม่เข้าบริษัททั้งหมด รวมถึงหุ้นที่ไม่ติดไซเลนท์พีเรียด มีจำนวนเท่าไหร่? สองรายการนี้จะมีข้อมูลอยู่ในหนังสือชี้ชวน

บางบริษัทมีการ lock up หุ้นเดิม คือ การที่ผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดยินดีไม่ขายหุ้นออกมา อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่าจะไม่มีการหุ้นเดิมออกมาในช่วงแรกที่เข้าเทรดอย่างแน่นอน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเทขาย และความผันผวนที่ราคาหุ้นจะร่วงลงได้

2. การรู้และเข้าใจถึง Valuation ที่เหมาะสมของบริษัทว่าควรมีมูลค่าอยู่ที่เท่าไหร่ ราคาหุ้นไม่ควรมีค่า PE ที่แพงกว่า อุตสาหกรรม หรือคู่เทียบหุ้นตัวอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน และไม่ควรตั้งราคาแพงจากการเอาค่า PE ล่วงหน้ามาเป็นตัวตั้ง

หากราคาของบริษัทถูกกำหนดออกมา เราจะสามารถประเมินได้ว่า ราคาหุ้น ณ เวลานั้น จะเรียกว่า แพง หรือ ถูก? ไม่ว่าจะตอนที่กำหนดราคาไอพีโอ หรือ ตอนที่หุ้นเข้าเทรดไปเรียบร้อยแล้ว

ยกตัวอย่าง ตอนราคาจองไอพีโอถือว่า “ราคาไม่ถูก” แต่หากมีการย่อตัวลงมาหลังจากการเข้าตลาดมาแล้ว ผู้ลงทุนก็สามารถนำการประเมินราคาที่เหมาะสมที่เคยทำไว้ก่อนเข้าเทรดมาเป็นหลักในการตัดสินใจเข้าลงทุนได้เช่นกัน เพราะส่วนใหญ่พื้นฐานของหุ้นไอพีโอไม่ค่อยจะมีการเปลี่ยนแปลงจากหนังสือชี้ชวนแบบมีนัยสำคัญมากนักหลังเข้าตลาดหุ้นภายใน 3 เดือนแรก

โดยราคาอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาลงทุนก็เป็นได้ เนื่องจากกำไรเกิดจากการซื้อถูกและขายแพงนั่นเอง

3. ความเสี่ยง อาจเป็นหัวข้อที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มักมองข้าม แต่การพิจารณาความเสี่ยงอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรพิจารณาควบคู่ เพราะตามทฤษฎีการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงย่อมมีความเสี่ยงสูง และเรามักจะได้ยินตามโฆษณาเป็นประโยคยอดฮิตที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน”

4. ประวัติผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ ในอดีตเคยมีวีรกรรมด่างพร้อย หรือ ประวัติในด้านดี มีความน่าเชื่อถือ (TRUST) ความตั้งใจในการเข้าระดมทุนในตลาดเพื่อสร้างการเติบโตของกิจการอย่างแท้จริงหรือไม่?

5. ความน่าเชื่อถือ และประวัติของที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) หรือ Lead Underwriter โดยสามารถดูได้จากงานหรือ case ในอดีตว่าพาลูกค้าประเภทไหน แบบไหนเข้าตลาดมาแล้วมาสร้างความเสียหายต่อผู้ลงทุน สามารถดูจากสถิติ FA และ IPO Performance ได้ที่ https://www.settrade.com/th/equities/ipo-corner/ipo-performance/highlight

โดยมากแล้ว FA กับบริษัทจะเป็นบุคคลที่มีบุคลิกที่คล้ายกัน มีนิสัยและแนวทางการทำงานที่ไม่ห่างกันมาก เพราะการทำดีลแต่ละครั้งจะต้องคลุกคลีกันมานานไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี ขึ้นไป ฉะนั้น บุคลิกของ FA จะเป็นหนึ่งในตัวบ่งบอกว่าจะเลือกบริษัทที่ตั้งใจเข้ามาขยายการเติบโตในตลาดหุ้น หรือต้องการจะมาปล้นเงินรายย่อยแล้วเลิก

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนไม่ใช่แค่ดูว่าผลงานทำหุ้นไอพีโอแล้วราคาเหนือจองหรือต่ำจองในวันแรก เพราะเกมหุ้นมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างภาวะตลาดหุ้นวันนั้นๆ แต่ยังต้องดูไปถึงผลประกอบการที่ควรจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังจากเข้าตลาดมาแล้ว เพราะอย่างน้อยๆ บริษัทที่เข้าตลาดหุ้นจะได้เปรียบเมื่อเทียบกับตอนอยู่นอกตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ต้นทุนทางการเงินที่จะลดลง และความน่าเชื่อถือจากคู่ค้า ซัพพลายเออร์ และสถาบันการเงิน ฯลฯ

การเติบโตหลังเข้าตลาด สามารถบ่งชี้ถึง character ของ FA ได้เลยว่าจะ grey หรือ dark แค่ไหน

6. อย่ามองหรือพิจารณาการซื้อหุ้นไอพีโอเหมือนการเล่นการพนันแทงหวย ต้องมองเป็นการลงทุนเหมือนเราจะซื้อของอะไรซักอย่างต้องดูศึกษาอย่างละเอียดและรู้จริง ตามข้อ 1-5 เราก็จะประสบความสำเร็จในการลงทุนกับหุ้นไอพีโอ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ การเลือกหุ้นไอพีโอเพื่อลงทุน เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนจะต้องทำการบ้านด้วยตนเอง การที่ตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อหุ้นไอพีโอ เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจเองทั้งสิ้น การเสียหายหรือขาดทุนจากการลงทุน คือ การบกพร่องในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูล หรือ ขาดความตั้งใจศึกษาข้อมูลอย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ขออธิบายที่มาที่ไปของหุ้นไอพีโอที่สามารถทำกำไร-ขาดทุนต่อผู้ลงทุน ได้ดังนี้

1. บุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อ “ราคาหุ้นที่ปรับขึ้น-ลง” อยู่ที่การตั้งราคาหุ้นของที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และผู้บริหารบริษัท

2. บุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อ “ผลประกอบการของหุ้นไอพีโอ” คือ ทีมผู้บริหาร หรือเจ้าของ

3. ความผันผวนของราคาหุ้นก็ขึ้นอยู่กับ “เกมหุ้น” ความนิยมมาก หรือ นิยมน้อย ต่อหุ้นตัวนั้นของผู้ลงทุน

หลักยึดของการลงทุน หุ้นไอพีโอ คือการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนเข้าลงทุน การจะโทษดิน โทษฟ้า โทษสิ่งแวดล้อม โทษสำนักงานก.ล.ต.- ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ โทษที่ปรึกษาทางการเงิน คงไม่ใช่คุณสมบัติของการเป็นผู้ลงทุนที่ดีแน่ เพราะการศึกษาข้อมูลของหุ้นไอพีโอก่อนเข้าลงทุน เป็นหน้าที่ของ “ผู้ลงทุน” ที่หวังจะมีความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นนั่นเอง

ธิติ ภัทรยลรดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top