ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ดอีอีซี รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการ เพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการหารือร่วมกันเพิ่มเติม ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อยืนยันว่า การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ครั้งนี้ ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
ในการดำเนินการต่อไป รฟท. และเอกชนคู่สัญญา จะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา จากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด มายัง สกพอ. เพื่อเสนอให้บอร์ดอีอีซี และ ครม. พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข โดย รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม. เห็นชอบ และ รฟท. จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ได้ทันที คาดว่าภายในเดือนเม.ย.68
ขยายพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใหม่
ที่ประชุมเห็นชอบการขยายเพิ่มเติมพื้นที่ การเปลี่ยนแปลง และการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใหม่ โดยเพิ่มเติมพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ประมาณ 714 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพเรือ เพื่อให้เขตส่งเสริมฯ ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งได้ปรับการออกแบบเพื่อเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางการบิน บริเวณด้านเหนือ (เขาโกรกตะแบก) และเพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติการบิน และเดินอากาศ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน
นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ และแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โดยขยายเจตนารมณ์ของโครงการ ที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม จากเดิม “ระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype development)” เพิ่มเติมเป็น “ระดับการผลิตเชิงพาณิชย์ หรือการใช้งานต่อเนื่อง (Product on shelf)” ซึ่งเป็นระดับที่ผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการผลิตต้นแบบทดสอบ ทดลอง และผลิตเชิงพาณิชย์ที่มีคุณภาพพร้อมส่งมอบต่อผู้บริโภค ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ที่มีการผลิตสะอาดมลพิษต่ำ, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพ เป็นต้น
“จะมีการปรับแผนผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อวัตถุประสงค์ใหม่ดังกล่าว เนื้อที่ประมาณ 975 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3,454 ไร่ โดยคาดว่าจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน และภาคธุรกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น” เลขาธิการ กพอ.ระบุ
รวมถึงมีการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา “บลูเทค ซิตี้” เนื้อที่ประมาณ 1,172 ไร่ บริเวณ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายตัว และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในพื้นที่ประมาณ 156,000 ล้านบาท
รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ โดยการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ ในสัดส่วนถึง 90 % สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายในพื้นที่โครงการ สร้างโอกาสด้านอาชีพ ผ่านการจ้างงานอีกประมาณ 20,000 คน และสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อเนื่องให้แก่ชุมชนในพื้นที่ เช่น ร้านค้า โรงแรม หอพัก ฯลฯ ถือเป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 68)
Tags: EEC, บอร์ดอีอีซี, รถไฟความเร็วสูง