เดนมาร์กชี้ กรีนแลนด์มีสิทธิเป็นเอกราช แต่คงไม่น่าไปรวมกับสหรัฐฯ

ลาร์ส เลิกเกอ รัสมุสเซิน รัฐมนตรีต่างประเทศเดนมาร์ก กล่าวเมื่อวันพุธ (8 ม.ค.) ว่า กรีนแลนด์สามารถประกาศเอกราชได้หากชาวกรีนแลนด์ต้องการ แต่คงไม่น่าจะไปเข้าร่วมกับสหรัฐฯ หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปรยว่าอาจใช้กำลังเข้ายึดครองเกาะในแถบอาร์กติกแห่งนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้นำกรีนแลนด์ได้เข้าเฝ้าฯ กษัตริย์เดนมาร์กที่กรุงโคเปนเฮเกน เพียงหนึ่งวันหลังจากทรัมป์ออกมาแสดงความเห็น

ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค.นี้ กล่าวว่าเขาไม่ปิดกั้นความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการทางทหารหรือทางเศรษฐกิจเพื่อผนวกกรีนแลนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยในวันเดียวกันนั้นเอง โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายคนโตของเขา ก็ได้เดินทางเยือนกรีนแลนด์เป็นการส่วนตัว

อนึ่ง กรีนแลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนาโต (NATO) ผ่านทางเดนมาร์กนั้น มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อกองทัพสหรัฐฯ และระบบเตือนภัยขีปนาวุธล่วงหน้า เนื่องจากเส้นทางที่สั้นที่สุดจากยุโรปไปยังอเมริกาเหนือพาดผ่านเกาะอาร์กติกแห่งนี้

กรีนแลนด์ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์กมานานถึง 600 ปี ปัจจุบันปกครองตนเองในระดับหนึ่ง และรัฐบาลของกรีนแลนด์ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีมูตซี เอเออเทอ กำลังพยายามผลักดันให้กรีนแลนด์ประกาศเอกราชอย่างสมบูรณ์ในอนาคต

“เราเข้าใจดีว่ากรีนแลนด์มีความต้องการที่จะเป็นอิสระ หากความต้องการนั้นเป็นจริง กรีนแลนด์ก็จะได้รับเอกราช แต่คงไม่ใช่เพื่อที่จะไปเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน” ลาร์ส เลิกเกอ รัสมุสเซิน รัฐมนตรีต่างประเทศเดนมาร์กกล่าว

รัสมุสเซินกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯ มีความกังวลด้านความมั่นคงในแถบอาร์กติกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เนื่องจากรัสเซียกับจีนได้เพิ่มกิจกรรมในภูมิภาคนี้มากขึ้น

“ผมไม่คิดว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในวิกฤตด้านนโยบายต่างประเทศ เราพร้อมที่จะพูดคุยกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับแนวทางที่เราจะสามารถร่วมมือกันได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายของสหรัฐฯ จะบรรลุผล” รัสมุสเซินกล่าว

ถึงแม้เดนมาร์กจะพยายามลดความสำคัญกับท่าทีคุกคามของทรัมป์ แต่คำพูดเหล่านั้นก็สร้างความไม่สบายใจให้กับชาติพันธมิตรในยุโรป

ฌ็อง-นอแอล บาร์โรต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่ายุโรปจะไม่ยอมให้ชาติใดมารุกรานอธิปไตยเหนือดินแดนของตน แม้ว่าเขาจะไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ จะถึงขั้นบุกก็ตาม ด้านโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แสดงความประหลาดใจต่อความคิดเห็นของทรัมป์เกี่ยวกับกรีนแลนด์และแคนาดา พร้อมย้ำว่าชาติพันธมิตรในยุโรปต่างเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ว่า พรมแดนของแต่ละประเทศนั้นจะละเมิดมิได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 68)

Tags: , , ,
Back to Top