บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ หรือ ThaiBev ที่ ‘BBB-’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National
ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ ‘AA(tha)’
การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนของหนี้สินของ ThaiBev จะคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในระยะกลาง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดคงเหลือที่แข็งแกร่งที่พร้อมรองรับกับแผนการลงทุนและการขยายกิจการผ่านรูปแบบการเข้าซื้อกิจการอื่น กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งมาจากธุรกิจสุราในประเทศซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของบริษัท การฟื้นตัวของกำลังซื้อของตลาดเบียร์ และการเติบโตของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ภายหลังการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ TCC Assets Limited ซึ่งเป็นให้เกิดการรวมกิจการของ Fraser and Neave Limited (F&N)
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงตำแหน่งผู้นำตลาดของ ThaiBev ในธุรกิจสุราในประเทศไทย การที่บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงในธุรกิจเบียร์ทั้งในประเทศไทยและเวียดนามและการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารเพียงอย่างเดียว: ภายหลังการแลกเปลี่ยนหุ้นเสร็จสิ้น ส่งผลให้ ThaiBev มีเพียงธุรกิจเครื่องดื่มและธุรกิจ โดยได้จำหน่ายเงินลงทุนที่มีในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้แก่ Frasers Property ออกไปและเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเครื่องดื่มและอาหาร ซึ่งได้แก่ F&N เป็นร้อยละ 69.64 การปรับโครงสร้างเชิงกลยุทธ์ครั้งนี้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ ThaiBev ที่จะขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนสัดส่วนรายได้จากเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของ ThaiBev ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19 ในปีงบการเงิน 2567 (สิ้นสุดเดือนกันยายน) จากร้อยละ 7 ในปีงบการเงิน 2566
ศักยภาพในการลดอัตราส่วนหนี้สิน: ฟิทช์คาดการณ์ว่า ThaiBev จะรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA net leverage ที่ 3.0-3.5 เท่า ในช่วงสองปีข้างหน้า แม้ว่า อัตราส่วนของหนี้สิน ณ สิ้นปีงบการเงิน 2567 ซึ่งอยู่ที่ 3.8 เท่า จะอยู่ในระดับสูงกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เล็กน้อย ที่ 3.5 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากกำไรของธุรกิจสุราที่ลดลงเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น การไหลออกของเงินทุนหมุนเวียนที่เกิดขึ้นครั้งเดียว และค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงขึ้นในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารหลังการรวมกิจการของ F&N
ฟิทช์คาดการณ์ว่า EBITDA net leverage ของบริษัทฯ จะลดลงอยู่ที่ระดับ 3.4 เท่า ในปี งบการเงิน 2568 ซึ่งจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดเบียร์ จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้น และการเติบโตอย่างต่อเนื่องในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ในขณะที่ธุรกิจสุราจะยังคงเติบโตอยู่ในระดับต่ำ บริษัทฯ ได้เปิดตัวสุราใหม่เพื่อรองรับความต้องการในตลาดผลิตภัณฑ์พรีเมียม ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของปริมาณจำหน่ายในธุรกิจสุรา แม้ว่าจะมีแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการแข่งขันจากทางเลือกอื่น ๆ ก็ตาม
คงอัตราส่วนกำไร: ฟิทช์คาดว่า ThaiBev จะสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (EBITDA margin) ที่ร้อยละ 22 ในปีงบการเงิน 2568-2569 (ปีงบการเงิน 2567: ร้อยละ 21.6) แม้ว่าฟิทช์คาดว่าราคาวัตถุดิบจะลดลงในปีงบการเงิน 2568 แต่อาจถูกลดทอนด้วยการเติบโตของปริมาณการขายที่ต่ำในธุรกิจสุราซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตรากำไรสูง แรงกดดันจากเงินเฟ้อและต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น EBITDA margin ของ ThaiBev ในปีงบการเงิน 2567 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนในกลุ่มธุรกิจหลักหลังการแลกเปลี่ยนหุ้นและการรวมธุรกิจของ F&N
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow) ของ ThaiBev จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.0-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2568-2569 จาก 5 พันล้านบาทในปีงบการเงิน 2567 ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจาก EBITDA ที่สูงขึ้นและการที่ไม่มีการไหลออกของเงินทุนหมุนเวียนที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ค่าใช้จ่ายในการลงทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2568-2569 เนื่องจากการขยายโรงงานผลิตนมของ F&N เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ ฟิทช์คาดว่า ThaiBev
ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาค : สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาค รวมถึงสถานะผู้นำในตลาดสุราในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการจำหน่ายสุรา บริษัทฯยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในระดับร้อยละ 35-40 ของปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทยและเวียดนาม การขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศเวียดนามและเมียนมา ช่วยให้ ThaiBev มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น โดยสัดส่วน EBITDA จากประเทศไทยลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 65 ของ EBITDA รวม จากเดิมที่สูงกว่าร้อยละ 90 ในปีงบการเงิน 2560
ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยใน Sabeco: ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ThaiBev ฟิทช์มองว่า ThaiBev และ Saigon Beer-
Alcohol-Beverage Corporation (Sabeco) บริษัทย่อยในประเทศเวียดนามมีความเกี่ยวโยงในด้านการดำเนินงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจอยู่ในระดับสูง แม้ว่าบริษัทฯ จะถือหุ้นใน Sabeco ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 53.6 ฟิทช์จึงพิจารณา EBITDA รวมของทั้งสองบริษัท แต่หักเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นส่วนน้อยออกในการคำนวณ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังถือว่าเงินสดในมือของ Sabeco ในสัดส่วนตามการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (จำนวนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2567) เป็นเงินสดที่มีภาระผูกพันซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นรายการหักในการคำนวณหนี้สินสุทธิได้
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
เมื่อเปรียบเทียบ ThaiBev และ Bacardi Limited (BBB-/ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่มีการกระจายทางภูมิศาสตร์ในตลาดที่มากกว่า 160 แห่งทั่วโลก แต่มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า ทั้งสองบริษัทฯมีสถานะทางการเงินที่คล้ายกันเนื่องจากกำลังลดอัตราหนี้สินลงหลังจากการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ในปี 2560-2561ส่งผลให้ Bacardi และ ThaiBev ได้รับการจัดอันดับที่ระดับเดียวกัน
ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าผู้ผลิตเบียร์ที่ตุรกี Anadolu Efes Biracilik ve Malt Sanayii A.S. (Efes,BB+/เครดิตพินิจเป็นลบ) ThaiBev มีขนาดการดำเนินงานที่ใหญ่กว่าและมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มากกว่า Efes กำลังเผชิญกับความท้าทายในตุรกี รัสเซีย และยูเครน โดยเครดิตพินิจเป็นลบของ Efes สะท้อนถึงความไม่แน่นอนจากรัสเซียและแรงกดดันจากความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อกิจการ
Becle, S.A.B. de C.V. (Becle, BBB/ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ผลิตเตกีลาชั้นนำของโลก Becle มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า ThaiBev แต่มีการกระจายทางภูมิศาสตร์ที่ดีกว่า ดังนั้น Becle มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า นำไปสู่อันดับเครดิตที่สูงกว่า ThaiBev
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ThaiBev อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. จากัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจที่ใกล้เคียง ปตท. โดย ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจมากกว่า ซึ่งช่วยลดทอนความผันผวนที่เกิดจากธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ปตท. มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า โดยมีอัตราส่วน EBITDA Net Leverage อยู่ที่ระดับประมาณ 2.0 เท่า
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
– รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) จากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้แบรนด์ของ ThaiBev ในประเทศไทยเติบโตลดลงในอัตราร้อยละ 1-2 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2568 (รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ในปีงบการเงิน 2567 ซึ่งรวมรายได้การขายเบียร์จาก F&N) เนื่องจากปริมาณสุราจะได้รับผลกระทบจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจมหภาคและการปรับขึ้นราคาที่จำกัดจากการขึ้นราคาในช่วงปีงบการเงิน 2566 รายได้สุทธิคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0-2.5 ในปีงบการเงิน 2569-2570
– รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) ของ Grand Royal Group (GRG) บริษัทย่อยในประเทศเมียนมาเติบโตลดลงในอัตราร้อยละ 8-9 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2568-2569 (รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 ในปีงบการเงิน 2567) จากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น
– รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) ของ Sabeco คงที่ในปีงบการเงิน 2568 หลังจากลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมาจากการฟื้นตัวของความต้องการในเวียดนามที่ช้าก่อนที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปีงบการเงิน 2569
– รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) ของเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารจะเติบโตที่ระดับกลางร้อยละ 5 – 6 ในปีงบการเงิน 2568-2569
– EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต) อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 22 ในปีงบการเงิน 2568-2569 (ในปีงบการเงิน 2567 อยู่ที่ร้อยละ 21.6) เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงชดเชยด้วยแรงกดดันจากเงินเฟ้อและต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น
– ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 1.2 – 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2568-2569
– อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ที่ร้อยละ 50 ในปีงบการเงิน 2568-2569
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
– EBITDA net leverage ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
– มีหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งทางการตลาด หรือประสิทธิภาพในการดำเนินงานหรืออำนาจในการต่อรองราคา ที่อ่อนแอลง ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง
– กระแสเงินสดสุทธิที่อ่อนแอลงจนอยู่ในระดับศูนย์หรือติดลบ
ปัจจัยบวก:
– EBITDA net leverage อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง โดยที่บริษัทฯยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำที่แข็งแกร่งทั้งในสินค้าหลักและตลาดหลักของบริษัทฯ รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสุทธิ
สภาพคล่อง ThaiBev มีหนี้จากสิ้นปีงบการเงิน 2567 จำนวน 6.2 หมื่นล้านบาทที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและตั๋วแลกเงินประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาทซึ่งมีแนวโน้มที่จะต่ออายุ โดยส่วนที่เหลือจะเป็นเงินกู้ยืมธนาคาร 1 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนเงินสดในมือจำนวน 4.4 หมื่นล้านบาท (ซึ่งไม่รวมเงินสดที่มีภาระผูกพันตามคำจำกัดความของฟิทช์) และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (committed revolving facilities )ที่ยังไม่ได้เบิกถอนประมาณ 5.2 พันล้านบาท
สภาพคล่องของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจาก ความสามารถเข้าถึงตลาดทุนและเงินกู้ยืมจากสถานะทางเครดิตและการกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่งของ ThaiBev
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 68)
Tags: ThaiBev, ฟิทช์ เรทติ้งส์, หุ้นไทย, ไทยเบฟเวอเรจ