EEC แย้มข่าวดีจ่อเซ็นนลท. 12 ราย เม็ดเงิน 1.5 แสนลบ. เตรียมดันเมืองใหม่อัจฉริยะ 5 แสนกว่าลบ.

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักลงทุนเตรียมจะเซ็นสัญญากับ EEC 12 ราย วงเงินลงทุน 7 หมื่นล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล Data Center

ทั้งนี้ EEC วางเป้าหมายมีเม็ดเงินลงทุนจริงในปี 68 ที่ 1 แสนล้านบาท จากปี 67 ลงทุนจริง 107,000 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าให้มีการลงทุนปีละ 1.2 แสนล้านบาท

นายจุฬา กล่าวว่า สัญญาณที่เห็นชัดเจนขณะนี้มีการยื่นข้อตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 30 แห่ง ๆ ละประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุมัติจากบอร์ด EEC และนำเสนอเข้าครม.พิจารณา

ขณะเดียวกัน EEC เตรียมโครงการศูนย์ธุรกิจและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ บนพื้นที่ 5,795 ไร่ หรือ 24 ตร.กม. ตั้งอยู่ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เงินลงทุนรวมประมาณ 534,985 ล้านบาท ที่จะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้แก่ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การพัฒนาบุคคลากรและการศึกษา ดิจิทัล การบินและโลจิสติกสส์ การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ศูนย์บริการทางการเงิน เป็นต้น โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับสนามบินอู่ตะเภา มอเตอร์เวย์

โครงการนี้จะเป็นเมืองใหม่ที่มีแนวคิด Net Zero เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการสร้างเมือง โดยในปีนี้เตรียมทำการศึกษาเฉพาะระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานก่อนในปีนี้โดยจะนำหลัก Recycle ซึ่งเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น ซึ่งจะเปิดประมูลให้ผู้รับสัมปทานบริหาร 50 ปี โดยเป็นลักษณะ Consortium ไม่ใช่รายเดียว

สำหรับความคืบหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลักขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC 4 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 6.8 แสนล้านบาท ได้แก่

– โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปัญหาในขณะนี้ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ทั้งที่เซ็นสัญญาเมื่อปี 62 ในระยะเวลา 5 ปี สมมติฐานเปลี่ยนแปลงไปก็ต้องมีการแก้ไขสัญญา ซึ่งอยุ่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าในเดือนมี.ค.-เม.ย.68 จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ และจะให้เร่งดำเนินการก่อสร้างภายในปีนี้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้ในปี 72

– โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่ได้ก่อสร้าง ปัจจุบันได้ให้เอกชนไปดำเนินโครงการ Airport City หรือเมืองการบินตะวันออกได้โดยไม่ต้องรอโครงการรถไฟฯ

– โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้มีการถมทะลเล้ว การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เริ่มส่งมอบพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเป็น Green Port และจะทำให้ท่าเรือเฟส 1 และ 2 จะต้องลงทุน (Reinvest) เพื่อให้แข่งขันได้ ขณะที่ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะเป็นท่าเรืองขนส่งก๊าซ ก็ดำเนินการถมทะเลแล้ว ก็เตรียมส่งมอบพื้นที่ด้วย

– โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ซึ่งเดิมให้บมจ.การบินไทย [THAI] ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจเข้ามาดำเนินโครงการที่จะร่วมทุนกับแอร์บัส แต่ภายหลังได้ยกเลิก ขณะนี้ EEC เตรียมพิจารณาให้การบินไทย เข้ามาใช้พื้นที่ของ EEC ที่อยู่ติดกับสนามบินอู่ตะเภา พื้นที่ 210 ไร่ มาใช้ดำเนินโครงการ MRO ซึ่งการบินไทยมีใบอนุญาตการซ่อมเครื่องบิน และพื้นที่ดังกล่าวก็เหมาะสำหรับโครงการ MRO

นอกจากนี้ EEC พยายามจะแก้ไข pain point ในเรื่องความล่าช้าการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร โรงงาน และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) โดยเลขาธิการ EEC มีอำนาจอนุญาตได้เอง

ส่วนการขยายพื้นที่ EEC จากเดิมที่มีอยู่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นายจุฬา กล่าวว่า จากที่พิจารณาเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาสมะเพราะรายได้ 75% มาจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่อ.กบินทร์บุรี และระยะต่อไปจะเป็นจันทบุรี โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 3/68

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 68)

Tags: , ,
Back to Top