ทำความรู้จักการตลาดฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าความยั่งยืนจาก 2 ผู้บริหารบริษัทชั้นนำ

เพราะเหตุใด Regenerative Marketing จึงเป็นทางรอดสำหรับธุรกิจที่นอกเหนือไปจาก Sustainability สามารถหาคำตอบได้จาก ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Net Zero Accelerator Director, The Siam Cement Public Company Limited ซึ่งเป็นวิทยากรที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหัวข้อ Survival Mandate: Regenerative Marketing as the Only Path Forward ทางรอดของธุรกิจนอกจาก Sustainable แล้วต้อง Regenerative

โดยมี ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสาร และการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ในงาน THE NEXT MARKETING BATTLE

ผศ.ดร.เอกก์ เริ่มต้นการพูดคุยด้วยการเกริ่นถึงประเด็นความยั่งยืนว่า ยังมีแนวทางที่ “วิ่ง” ไม่น้อยไปกว่า Sustainability ก็คือ Regenerative ที่จะเข้ามาปฏิรูปวงการตลาด และถ้าไม่ปฏิรูปด้วยแนวทางใหม่นี้ควบคู่ไปด้วย จะถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

รู้จักกับการตลาดเพื่อการฟื้นฟู

อาจารย์ยุ้ย หรือผศ.ดร.เกษรา ได้กล่าวถึงความหมายของ Regenerative marketing ว่าแตกต่างจาก Sustainability ที่เรา รักษาสิ่งที่เป็นอยู่ในวันนี้ไม่ให้อยู่ในสภาพที่แย่ลง ในขณะที่ Regenerative คือ การทำสิ่งที่แย่ไปแล้วให้ดีขึ้น หรือการฟื้นฟู เราจะทำการตลาดยังไงโดยคิดถึงสิ่งแวดล้อมไปด้วย ด้วยการช่วยกันฟื้นฟูร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

อาจารย์ยุ้ย กล่าวต่อไปว่า การฟื้นฟูคือต้องทำให้ดีกว่าเดิม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูแลสังคม ยิ่งทำการตลาดด้านนี้เยอะ ยิ่งดี

ทางด้านคุณวชิระชัย มองว่า ปี 2567 มีการทำลายสถิติโลกร้อนหลายอย่าง ดังนั้นเรื่องของ Survival เป็นเรื่องที่มาแล้ว โลกร้อนส่งผลกระทบต่อธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งโลกร้อนก็จะส่งผลกระทบต่อคนด้วย เรื่องยั่งยืน ไม่ใช่อยากทำดี เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นักลงทุนตามติดตามเรื่องกติกาใหม่ ๆ และถ้าไม่ปรับตัวจะเอาตัวรอดไม่ได้ Net zero อย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะโลกเสียหายแล้ว ต้องฟื้นฟูด้วย และสามารถทำได้ด้วย Regenerative transformation โดย SCG มีความปรารถนาในเรื่อง Inclusive green growth ด้วยการเติบโตอย่างครอบคลุมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของอาจารย์ยุ้ย กล่าวต่อไปว่า สิ่งแวดล้อมกับการทำธุรกิจ ต้องไม่แยกออกจากกัน การเกิดขึ้นของบริษัทคือการทำกำไรก็จริงแต่การทำกำไรที่ดี สิ่งแวดล้อมถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ตอนนี้ยังไม่มีใครมาบังคับให้เราลดคาร์บอน สิ่งที่ทางเสนาทำทั้งหมด เพราะรู้ว่าผู้บริโภคชอบและสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคก็ยอมจ่ายในราคาที่ “กรีน” กว่า

ผู้บริหารเสนาดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่า กำไรก็เหมือนอากาศ ไม่มีอากาศก็ตาย การรักสิ่งแวดล้อมทำให้ผู้บริโภค เจน Z และเจน Y ในเอเชียและไทยให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้มาก  ถ้าเราสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อจะทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน และความได้เปรียบในการแข่งขัน

แล้วเราจะรักษ์โลกอย่างไร อาจารย์ยุ้ย กล่าวว่า คนอื่นอาจจะทำในส่วนของซัพพลายเชน เช่น คอนกรีตสีเขียว แต่เสนาเราสนใจว่าจะช่วยให้ลูกบ้านของเราลดคาร์บอนได้อย่างไรและลดลงได้เท่าไหร่ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า เซ็กเมนท์ที่ทำให้เกิดมลพิษมากที่สุดคือบ้านและออฟฟิศ ที่ผ่านมา ผู้บริโภคอาจจะนำแก้วน้ำมาใช้แต่ก็ยังมีการเปิดไฟในออฟฟิศเท่าเดิม ดังนั้นถ้าคอนโดไม่ได้สร้าง Ecosystem ให้เราใช้ชีวิตแบบ Low carbon ได้ การลดคาร์บอนก็จะเป็นไปได้ยาก เราจึงตั้งใจลดปริมาณคาร์บอนในคอมมูนิตี เช่น ติดโซลาร์เซลล์ การปลูกต้นไม้แบบ Low carbon ในคอนโด ปกติคอนโดต่าง ๆ มักจะปลูกต้นไม้ที่ดูแลง่าย นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่น เพื่อวัดปริมาณคาร์บอนกับโครงการต่าง ๆ ที่เราได้ทำให้กับลูกบ้าน

อาจารย์ยุ้ย กล่าวว่า การใช้รถยนต์ ยิ่งผลิตคาร์บอนเยอะ ทางบริษัทจึงมาคิดว่า จะทำยังไงให้ไม่ต้องใช้รถ เราเลยทำวีมูฟ ซึ่งเป็นบริการรถรับส่งจากพลังงานที่ได้จากโซลาร์เซลล์ มาให้บริการตามจุดต่างๆ เพื่อให้ลูกบ้านใช้รถยนต์น้อยที่สุด บริษัททำเพราะช่วยคอมมูนิตี้ในคอนโด ให้สามารถมีไลฟ์สไตล์แบบ Low carbon ซึ่งสามารถวัดปริมาณได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

ทางด้านคุณวชิระชัย ได้ยกตัวอย่างของการทำการตลาดแบบ Regenerative marketing ที่จะทำให้เกี่ยวพันกับลูกค้าและธุรกิจ เช่น แคมเปญWake up waste ของธุรกิจในเครือที่มีการรวบรวมเก็บพลาสติก โดยมีจุดรับกล่องกระดาษใช้แล้ว เพื่อนำไปรีไซเคิลฯ และยังมีการผลิตซีเมนต์และคอนกรีตแบบ Low carbon เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า เหล่านี้คือสิ่งที่บริษัทได้ลงมือทำแล้วและจะทำต่อไป

สำหรับสิ่งที่อยากจะทำต่อไป อาจารย์ยุ้ย กล่าวว่า อยากให้เกิดการดำเนินการของลูกค้ากับลูกค้ากันเอง โดยการสร้างคอมมูนิตีขึ้นมาต้องมีผู้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกด้วย เพื่อให้เกิดการรีไซเคิลและแชร์ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกนี้จะเป็นสิ่งที่บริษัทดำเนินการต่อไป

ส่วน คุณวชิระชัย กล่าวจะผลักดันให้เกิดการร่วมมือทั้งเชนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมมือกับจ.สระบุรี เพื่อผลักดันจังหวัดให้เป็น Low carbon city ให้เป็นประโยชน์กับทุกคน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 68)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top