ฟันธงเทรนด์การตลาดปี 2568 กับดร.สมชาติ วิศิษฐชัยชาญ อุปนายกฝ่ายองค์ความรู้ด้านการตลาด สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม การสื่อสาร และการตลาดยั่งยืน สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ซึ่งได้เปิดเผยผลสำรวจที่บ่งชี้เทรนด์การตลาดไทยและพฤติกรรมผู้บริโภคจาก MAT X MAT CMO COUNCIL’s Prediction ในงาน THE NEXT MARKETING BATTLE
โดย ดร.สมชาติ และผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ได้เปิดเผยผลการสำรวจผู้บริหารซึ่งชี้ให้เห็นว่า 55% มองว่า ในปี 68 เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะโตยาก และคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะโตเพียง 1.65% ในขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการตลาดมากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ 1. สภาพเศรษฐกิจ 2.เทคโนโลยีดิจิทัล 3. ลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่อง Macro ดังนั้น จึงต้องจับตาเป็นพิเศษ
สำรวจ 3 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค
สำหรับแนวโน้มของพฤติกรรมผู้บริโภคนั้น ผลสำรวจชี้ว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญตามลำดับดังนี้ 1. สุขภาพ 2. ดิจิทัล 3.คุณภาพ ซึ่งสุขภาพในที่นี้ครอบคลุมถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยดร.สมชาติ วิศิษฐชัยชาญ ได้ยกตัวอย่างของแคมเปญการตลาด “ไก่ไทยจะไปอวกาศ” ว่าเป็นแคมเปญที่ไม่ได้พูดถึงคีย์เมสเสจโดยตรง แต่สามารถชี้ให้เห็นว่า กระแสสุขภาพเป็นเรื่องที่มีความสำคัญถึงขนาดที่ไก่ของไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล
อีกตัวอย่างของแคมเปญที่ได้รับรางวัลคือ Baby Mild ที่สะท้อนให้เห็นถึงการใส่ใจในเรื่องการดูแล เมื่อสุขภาพดีก็จะทำให้เกิดความฉลาดทางอารมณ์ ส่งผลต่อสุขภาพจิต ดังนั้น เมื่อมีการพูดถึง Wellness ก็จะเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน
สำหรับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและได้รับความสนใจมากขึ้นนั้น แต่จากผลการสำรวจกลับพบว่า ผู้บริโภคให้ความสนใจกับเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมในลำดับที่ 7
ผลสำรวจชี้ปี 68 นักการตลาดไม่เพิ่มงบการตลาด
นักการตลาดและผู้บริหารมากกว่า 77.6% มองว่า จะไม่เพิ่มงบการตลาดในปีนี้ และคาดการณ์ว่า งบการตลาดจะลดลง 0.41%
และเมื่อมีงบน้อยลง นักการตลาดจะนำเงินไปใช้ลงทุนกับอะไรบ้าง ผลสำรวจเผยนักการตลาดจะลงทุนกับ Content สูงที่สุด รองลงมาคือ การลงทุนด้าน Commerce และอันดับถัดไป คือ การลงทุนในด้าน Payment โดยผศ.ดร.เอกก์ ได้ชี้ให้เห็นว่าในเรื่อง Governance นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันแต่นักการตลาดกลับไม่ค่อยลงทุนในด้านดาต้าของลูกค้า ซึ่งจริง ๆ แล้วหากข้อมูลลูกค้ารั่วไหลออกไปจะถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ดังนั้น จึงควรที่จะพิจารณาเรื่องการลงทุนในด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วย
นอกจากนี้ ยังได้มีการยกตัวอย่างของแคมเปญ ttb touch ที่สามารถทำให้เกิด transaction ได้ ในขณะเดียวกันก็ยังทำให้การใช้บริการอื่น ๆ อยู่ในทัชเดียว ไม่ว่าจะเป็นบริการล้างรถ การจ่ายค่าทางด่วน สินเชื่อรถ การประกันรถ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการให้บริการที่แตกต่างไปจากผู้ให้รายอื่นเท่านั้นแต่ยังทำให้เกิดคุณค่ากับผู้ใช้บริการด้วย
ทั้งนี้ แคมเปญ”พอดีไม่เหมือนกัน”ของนันยางก็เป็นอีกแคมเปญที่ได้มีการยกตัวอย่าง ซึ่งแคมเปญนี้เป็นการจัดทำเว็บไซต์สำหรับคนรุ่นใหม่ ใช้คอนเทนต์เข้าไปช่วยในเรื่องโรคซึมเศร้า และโยงเข้าไปสู่สินค้าคือรองเท้าที่เป็นตัวบ่งบอกตัวตน ซึ่งท้ายที่สุดแคมเปญนี้นอกจากจะช่วยเหลือสังคมแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดยอดขายได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
อันดับต่อมาเป็นการเปิดเผยถึงเรื่อง 3 P ซึ่งเมื่อปี 2567 People ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ตามมาด้วย Planet และ Profit แต่ในปี 2568 ผลสำรวจขี้ว่า Profit ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 อันดับที่ 2 คือ People และ 3. Planet
เมื่อการคาดการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้แล้ว What Next อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ผลสำรวจคาดการณ์ออกมาดังนี้ 1.AI จะได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรก อันดับที่ 2 คือ iOT ซึ่งผู้บริหารมองว่า การใช้ประโยชน์จาก Internet of Thing จะไปด้วยกันได้ดีกับการใช้ AI ส่วนอันดับที่ 3 คือ Biotechnology
ส่วนที่มองกันในเรื่องของ S-Curve ของเศรษฐกิจไทยนั้น ผลสำรวจชี้ให้เห็นถึง New S-Curve for Thailand ดังนี้ อันดับที่ 1 คือ Health and wellness 2.Quality tourism และ 3. Agri and Biotech
ส่อง 3 อุปสรรค์กระทบการตลาดไทย
เมื่อนึกถึง “เทรนด์การตลาด 2025” นักการตลาดไทยจะนึกถึงอะไรบ้าง ถ้าเป็นอุปสรรคการตลาดไทยในปี 2567 นักการตลาดจะนึกถึง 1. Budget หรืองบประมาณ 2. Competition หรือการแข่งขัน และ 3. Economic หรือสภาพเศรษฐกิจ แต่อุปสรรคในปี 2568 กลับกัน โดยมองว่าอุปสรรคต่อการตลาดไทย อันดับ 1 คือ ดิจิทัล 2. ดาต้า และ 3. ความยั่งยืน
ท้ายที่สุด ดร.สมชาติ และผศ.ดร.เอกก์ ได้ให้คาถาเพื่อรับมือกับเทรนด์การตลาดและผู้บริโภคไว้ ดังนี้
1.ใช้เอไอในการสร้างประสบการณ์สำหรับผู้บริโภคเพื่อให้ประสบการณ์ที่มีความหมายแก่ผู้บริโภค
2. Balance หรือสร้างสมดุล ในแบบ “ช้า เร็ว ระวังหลัง” ผศ.ดร.เอกก์มองว่า อย่าลืมลงทุนด้าน Governance เพราะถ้าข้อมูลหลุดจะเกิดความเสียหายตามมาได้ และเวลาลงทุนให้ตัดสินใจจากความเข้าใจอย่างแท้จริงในแก่นแท้ของผู้บริโภค
3. Clear ชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ
3. Data ชิงชัยกันด้วยข้อมูล เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับผู้บริโภคในด้านอารมณ์
ท้ายสุด ผศ.ดร.เอกก์ได้ให้ความคิดเห็นถึงปี 2568 ว่าเป็นปีงูกระโดด และได้ให้ “คาถา” ปราบพยศงูไว้ว่า หากเราจับงูไม่ดี งูกระโดดกัดเราได้ เพราะงบประมาณเราลดลง ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ม.ค. 68)
Tags: การตลาด, พฤติกรรมผู้บริโภค, สมชาติ วิศิษฐชัยชาญ, เศรษฐกิจไทย, เอกก์ ภทรธนกุล