หุ้น BCPG บวกนำกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเมื่อเวลา 10.00 น. ปรับตัวขึ้น 5.22% หรือเพิ่มขึ้น 0.30 บาท มาอยู่ที่ 6.05 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 18.80 ล้านบาท จากราคาเปิด 6.00 บาท
- GULF บวก 0.89% หรือเพิ่มขึ้น 0.50 บาท มาที่ 56.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 109.67 ล้านบาท
- GPSC บวก 1.46% หรือเพิ่มขึ้น 0.50 บาท มาที่ 34.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 26.71 ล้านบาท
- BGRIM บวก 2.29% หรือเพิ่มขึ้น 0.40 บาท มาที่ 17.90 บาท มูลค่าซื้อขาย 30.93 ล้านบาท
บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะกลับเข้าสะสมหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าหลังวานนี้ราคาปรับตัวลดลงแรงนำโดย GPSC( -8.1%) , BGRIM (-7.9%), GULF (-2.2%), WHAUP (-5.2%) ตอบรับประเด็นที่นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวในงานช่วยหาเสียง อบจ.เชียงราย ว่าจะลดค่าไฟ 0.45 บาทเหลือ 3.70 บาทจากปัจจุบัน 4.15 บาท/หน่วย
รายละเอียดของแนวทางที่รัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้า 0.45 บาทถูกเปิดเผยออกมาประกอบไปด้วย 1. ไม่ต่อสัญญาซื้อขายไฟ Adder ที่จะหมดอายุของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 2. ขยายเวลาการจ่ายคืนค่า Ft กับ กฝผ 3. ขยายเวลาชำระเงินค่าก๊าซให้ กฝผ และ PTT และ 4. ขอให้ผู้ผลิตไฟฟ้าทั้ง IPP และ SPP ลดกำไรลง
เรายังยืนยันมุมมองเดิมว่าเป็นไปได้ยาก และนโยบายดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งเราเชื่อว่าการปรับลดค่าไฟฟ้าจะมีโอกาสเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกล่มเปราะบางมากกว่า และต้องสอดคล้องกับราคาก๊าซธรรมชาติ (เรามองว่ากรณีปรับลดค่าไฟฟ้าลงโดยค่าก๊าซยังคงเดิมเป็นไปได้ยากมาก) ในขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนส่วนใหญ่ก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีการเจรจาปรับเปลี่ยนสัญญา
แม้ว่าระยะสั้นข่าวนี้จะสร้าง Sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้น แต่เรามองเป็นโอกาสในการเก็บสะสมหุ้นในกลุ่มนี่จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงแรง โดยมอง BCPG ได้รับผลกระทบจากข่าวนี้น้อยที่สุดเนื่องจากไม่มีโรงไฟฟ้า SPP ในมือเลยในขณะที่กำไรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น 20%yoy ในปีนี้ รองลงมาเป็นกลุ่ม IPP คือ RATCH, EGCO
ส่วน GULF แม้ว่าจะได้รับผลกระทบบ้างแต่เรามองว่าน้อยมากเนื่องจากสัดส่วนโรงไฟฟ้า IPP มากกว่า 75% ในขณะที่ปีนี้เริ่มมีการรับรู้กำไรจาก ADVANC เข้ามามากขึ้น
ด้าน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุว่า หากพิจารณาโครงสร้างค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่มีการเรียกเก็บราว 4.15 บาท/หน่วย จะพบว่ามีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่าย ADDER อยู่ราว 0.15 บาท/หน่วย ดังนั้น กรณีไม่ต่อซื้อขายไฟ ADDER ปี 68 ที่จะหมดอายุ ฝ่ายวิจัยมองว่าจะสามารถลดค่าไฟลงได้สูงสุด 0.15 บาท/หน่วย แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสัญญา ADDER จะไม่ได้หมดอายุพร้อมกันทุกโครงการในปี 68 จึงคาดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากส่วนนี้จะค่อยๆ ทยอยปรับตัวลดลงตามลับดับ
นอกจากนี้ ส่วนของค่าภาระหนี้คงค้าง กฟผ. ปัจจุบันมีการเรียกเก็บที่สัดส่วนราว 0.20 บาท/หน่วย และยังไม่มีการเรียกเก็บต้นทุนก๊าซฯคงค้างคืนให้ ดังนั้น แม้จะไม่มีการเก็บเงินชดเชยคืนหนี้ดังกล่าว คาดจะทำให้ค่าไฟลดลงจากงวดปัจจุบันที่ 4.15 บาท มาอยู่เพียง 3.95 บาท/หน่วย ซึ่งก็ยังไม่ถึงระดับ 3.70 บาท/หน่วย
ดังนั้น การหาแนวทางปรับโครงสร้างค่าไฟ อาจจะต้องรอพิจารณาอีกครั้งว่ารัฐบาลจะพิจารณาปรับจากส่วนไหน เบื้องต้นกรณีที่เลวร้ายสุด โดยหากลดค่าไฟฟ้าลง 0.45 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.15 บาท/หน่วย มาอยู่ที่ 3.70 บาท/หน่วย โดยกำหนดให้สมมติฐานให้ค่าไฟฟ้าฐาน และต้นทุนก๊าซฯธรรมชาติคงที่ คาดจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP อาทิ BGRIM , GPSC, และ GULF ให้กำไรลดลงราว ราว 1.8 พันล้านบาท, 630 ล้านบาท, และ 600 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกำไรปกติทั้งปี 68 ที่ 30%, 27% และ 3% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงคงต้องพิจารณาสถานการณ์ในหลายองค์ประกอบ ณ ช่วงเวลานั้นๆ เช่น ราคาก๊าซฯ หรือแนวทางการบริหารต้นทุนในแต่ละบริษัท เป็นต้น
นอกจากนี้ หากภาครัฐหาแนวทางลดค่าไฟด้วยการปรับลดราคาก๊าซลงได้ ส่วนที่เป็นการลดลงของราคาก๊าซฯ ไม่น่าจะกระทบต่อ MARGIN ของผู้ประการโรงไฟฟ้า SPP อย่างมีนัยฯ หรือหากเป็นกรณีช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย เหมือนที่เคยมีนโยบายในช่วงก่อนหน้า คาดผู้ประกอบการ SPP จะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ขณะที่หากเป็นกรณีที่เป็นการปรับปรุงตัวแปรอื่นๆในโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน อาจต้องมาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่มีโอกาสได้รับผลกระทบ คาดจะเป็นไปได้ทั้งฝั่งภาครัฐฯ, กฟผ., และภาคเอกชน ดังนั้น จึงถือเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม ช่วงสั้นถือเป็น SENTIMENT เชิงลบกดดันต่อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าจากความไม่ชัดเจนของแนวทางภาครัฐฯในปัจจุบัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 68)
Tags: BCPG, BGRIM, GPSC, GULF, หุ้นโรงไฟฟ้า, หุ้นไทย