นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถามนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ถึงมาตรการสนับสนุนตลาดพลังงานสะอาด ผ่านโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าปล่อยมลพิษมากที่สุด ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไฟฟ้าไปเป็นพลังงานสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งที่ผ่านมา ถูกเอื้อให้กับกลุ่มทุนที่รัฐบาลซื้อพลังงานหมุนเวียน เริ่มตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เวลาที่รัฐบาลจะซื้อ ก็อ้างเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ซี่งตนตั้งคำถามทุกครั้งว่าเป็นความมั่นคงของประเทศ หรือของใครกันแน่ เพราะปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการหรือหลักการสำรองไฟฟ้าอยู่แล้ว โดยเป็นการเพิ่มภาระค่าไฟให้กับประชาชนทั่วประเทศ มีโรงงานไฟฟ้าที่ไม่ได้ผลิตเลย แต่ยังได้เงินจากประชาชนผ่านค่า FT ที่สำคัญคือการรับซื้อนั้นไม่มีการประมูล
ทั้งนี้ เห็นด้วยกับความกล้าหาญของนายพีระพันธุ์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับซื้อไฟฟ้า และให้ชะลอการรับซื้อออกไป แต่เรายังต้องติดตามว่าจะกลับมาดำเนินการต่อหรือไม่
นายนรเศรษฐ์ ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผู้มีบารมีนอกรัฐบาลที่ไปถ่ายรูปในสนามกอล์ฟหรือไม่ ตนไม่ทราบ เรื่องนี้มองเห็นถึงโครงสร้างการรับซื้อพลังงานสะอาดหรือไม่ เช่น โซลาร์รูฟท็อป จะมีการขยายการรับซื้อจากภาคประชาชนเหมือนกับกลุ่มทุนหรือไม่ รวมถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ทำให้การขออนุญาตใช้เวลานานจะทำอย่างไร จะมีมาตรการจูงใจภาคครัวเรือนเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น และจะมีวิธีลดภาระอย่างไร
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า ส่วนตัวไม่รู้มาก่อนว่ามีการผูกขาดพลังงาน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง ดังนั้นจึงยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ในทันที ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่ยอมรับว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังมีข้อผูกพันทางกฎหมาย
ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าจะต้องลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดย 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่มีนโยบายขึ้นค่าไฟฟ้า และตรึงราคาก๊าซไว้ตลอด ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถลดราคาได้ แต่ได้พยายามไม่ให้ขึ้นไปมากกว่านี้ ที่สำคัญรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว เพราะถ้าติดตามการทำงานของตน ก็จะมีคำตอบอยู่ในตัวเองแล้ว
“ส่วนตัวผมไม่ชอบเรื่องความไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้อง และไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นนโยบายเรื่องนี้ ความคิดผมกับท่านตรงกันอยู่แล้วที่จะดำเนินการ สำหรับประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ผมเห็นด้วยกับท่าน ผมคิดอีกแบบ ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่เพียงแค่การทำให้มีพลังงานในปริมาณที่มากขึ้น แต่ความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง ต้องทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองในการมีไฟฟ้าใช้ได้ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ สิ่งที่ประเทศเราเหมาะสมที่สุด คือ แสงอาทิตย์ ดังนั้น จึงควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความมั่นคงทางด้านพลังงาน อย่าพูดถึงขายเลย เอาแค่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟ ไม่ต้องพะวงว่าอีก 4 เดือน ค่าไฟจะปรับเท่าไร ปัจจุบันที่ต้องปรับ เพราะไฟฟ้าผลิตจากก๊าซ เราเจอภาวะราคาตลาดโลก ทำให้กำหนดราคาไม่ได้คงที่ ผมก็พยายามศึกษา เพราะเป็นสัญญาที่ทำข้อตกลงไว้แล้ว” นายพีระพันธุ์ กล่าว
นายพีระพันธุ์ ยังแสดงความข้องใจ ว่าเหตุใดต้องแยกส่วนการไฟฟ้าไปอยู่ทั้งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย เพราะเมื่อมีการแยกระหว่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ทั้ง 2 หน่วยงานต้องรับไฟฟ้ามาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นฝ่ายผลิตแต่ไม่ได้เป็นฝ่ายขาย ทุกขั้นตอนต้องมีกำไร หากไม่มีกำไรก็ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงต้องการหาทางแก้ปัญหา
“ทั้งหมดนี้ สว. และ สส. เป็นผู้บัญญัติกฎหมาย รู้หรือไม่ กฎหมายไฟฟ้าฝ่ายผลิต กำหนดตั้งแต่ปี 2511 ดังนั้นควรมีการปรับแก้ปัญหาพลังงาน ไม่ใช่ว่าไม่มีใครเห็น แต่ประเด็นคือ ใครจะเป็นคนทำ…นายกฯ เศรษฐา มาถึงนายกฯ แพทองธาร ได้กำชับผมมาโดยตลอด ให้ช่วยแก้ปัญหา” นายพีระพันธุ์ กล่าว
นายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า เวลาประชาชนจะขอติดแผงโซลาร์ต้องขออนุญาตถึง 5 หน่วยงาน ซ้ำซ้อน และยุ่งยากมาก รวมถึงต้องรอเป็นปี ตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ก็ได้สั่งการแก้ระเบียบไปแล้ว วันนี้การแก้กฎหมายไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน อีกนานกว่าจะเข้า ครม. รวมถึงเรื่องการหาเงินทุน
“อะไรที่ส่อไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ผมสั่งระงับทั้งนั้น เพราะผมไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไรกับใคร ผมมาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็เหมือนกับท่านครับ เรามาเป็นผู้แทนมาทำงานให้กับประชาชน ครั้งหนึ่งในชีวิต ทำตรงนี้ทำให้ดีที่สุด ผมทำทุกอย่างภายใต้นโยบายรัฐบาล และตามแนวทาง คือเพื่อความมั่นคงทางพลังงานให้กับประชาชน” นายพีระพันธุ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 68)
Tags: นรเศรษฐ์ ปรัชญากร, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, แก้กฎหมาย