นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum 4/67 ว่า ภาพของเศรษฐกิจไทย เมื่อมองไปข้างหน้ายังฟื้นตัวได้ตามศักยภาพในระดับปานกลาง แต่การฟื้นตัวอาจแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในบางจุด รวมถึงความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่คาดว่าจะสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถรองรับสถานการณ์ที่มีความหลากหลาย รวมถึงต้องให้ความสำคัญในการรักษากันชน (Buffer) ในด้านต่าง ๆ ไว้ และผสมผสานเครื่องมือในเชิงนโยบายให้เหมาะสมกับพัฒนาการที่เกิดขึ้นในแต่ละด้าน
นายสักกะภพ กล่าวว่า หากดูการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/67 ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ 3% จากไตรมาสที่ 2 ที่ 2.7% เหมือนที่ธปท. มองไว้ว่า ไตรมาส 2 จะฟื้นตัวที่ 2% , ไตรมาส 3 จะฟื้นตัวที่ 3% และไตรมาส 4 ที่ 4% ซึ่งโดยภาพรวมการเติบโตจะเห็นเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ขยายตัวได้เกิน 3% ซึ่งเป็นไปตามมุมมองเดิม
สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนหลัก มาจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกที่ดีขึ้น แม้ว่าการบริโภคจะชะลอลง เนื่องจากได้เร่งตัวไปก่อนหน้านี้ และภาคบริการยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ อย่างไรก็ดี ในแง่ภาคการผลิต จะเห็นว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้อาจเห็นการฟื้นตัวได้ไม่ค่อยชัดเจน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยในแง่การแข่งขันจากภายนอกที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยเรื่องของปัญหาโครงสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ และชิ้นส่วน ที่ทิศทางแย่ลงในช่วงที่ผ่านมา
- นโยบายการเงินต้องยืดหยุ่น พร้อมรองรับทุกสถานการณ์
นายสักกะภพ กล่าวว่า ดังนั้น จุดใหญ่ที่ ธปท.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยบโยบาย หรือปรับนโยบายการเงินนั้น จะอยู่บนปัจจัย 3 ด้าน คือ 1.การเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันยังมีทิศทางฟื้นตัว และสอดคล้องกับระดับศักยภาพ 2.อัตราเงินเฟ้อไม่ได้หลุดลอยจากกรอบเป้าหมาย 1-3% โดยคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปี 68 อยู่ที่ 1.1% อยู่ในกรอบเป้าหมายทรงตัวอยู่ในขอบล่าง และ 3.เสถียรภาพระบบการเงิน จะเห็นการลดสัดส่วนหนี้ Debt Deleveraging เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวปรับลดลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงระยะยาวจากสินเชื่อชะลอลง ทำให้นโยบายการเงินค่อนข้างเปิดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง นโยบายการเงินจะต้องพร้อมรองรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นเร็วหรือช้า หรือมีผลมากและน้อย ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25% เป็นระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพ และเงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และเป็นการดำเนินนโยบายแบบ Robust Policy (ยืดหยุ่น รองรับได้หลายสถานการณ์)
“หากภาพรวมเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ มีการเปลี่ยนไปกว่าที่คาดการณ์อย่างมีนัย นโยบายการเงินก็พร้อมจะปรับเปลี่ยน ภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวลักษณะ K Shape อุตสาหกรรมรถยนต์-ชิ้นส่วนยานยนต์แย่ลง แต่มีบางส่วนยังไปได้ ภาคบริการก็ยังสามารถหล่อเลี้ยงไปได้ อย่างไรก็ดี การทำสมมุติฐาน (Scenario) ของการปรับลดดอกเบี้ย จะมีปัจจัยอะไรบ้างนั้น ธปท.คงทำมากขึ้น แต่อาจจะต้องรอ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่จะเข้ามาเริ่มงานเดือนก.พ. เพราะตอนนี้นโยบายยังไม่ชัดเจน การบังคับใช้นโยบาย ก็ไม่มีความชัดเจน หรือการตอบโต้ก็ไม่ชัดเจน หากเราเริ่มเห็นความชัดเจนการทำ Scenario สามารถทำได้ อย่างไรก็ดี เฟรมใหญ่ยังคงอยู่ที่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย และประสิทธิผลการทำนโยบายการเงินที่เราต้องทำอยู่แล้ว” นายสักกะภพ กล่าว
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในปี 2568 ยอมรับว่า มีความผันผวนมากขึ้น เนื่องจากนโยบายการเงินประเทศหลัก คาดเดาได้ค่อนข้างยาก โดยเงินบาทจะมีความผันผวนสูงขึ้น โดยปัจจัยยังมาจากภายนอกเป็นหลัก
- ดอกเบี้ย 2.25% สอดคล้องศักยภาพเศรษฐกิจไทย
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 68 อยู่ที่ 1.1% และหากดูเงินเฟ้อระยะปานกลางเฉลี่ย 5 ปีข้างหน้า หรือในปีที่ 6-10 จากข้อมูลตลาดการเงิน พบว่าค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.7-1.8% ยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบ
ส่วนที่ว่าต้องเห็นอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ในระดับใด ธปท.จึงจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินนั้น มองว่า จากข้อมูลตลาดการเงินหากอัตราเงินเฟ้อแกว่งตัว +/- แบบ Sideway ก็ไม่น่ากังวล แต่หากการแกว่งไปในทิศทางเดียว อาจจะกังวล เนื่องจาก ธปท.จะดู Dynamic ของอัตราเงินเฟ้อ หากเกิด Price Shock ในสินค้าใดสินค้าหนึ่ง และมีการกระจายไปยัง Supply chain ด้วย จะเป็นสิ่งที่ ธปท.พิจารณา นอกจากเงินเฟ้อระยะปานกลาง
ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวม ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางมี 3 เรื่อง คือ 1.ความต้องการ (Demand) ลดลง ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ขนส่งผู้โดยสาร ใช้สินเชื่อน้อยลง เพราะรายได้ดีขึ้น 2.ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในลักษณะ K Shape ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ และ 3.การชำระหนี้คืน หลังจากปล่อยไปในช่วงโควิด-19
ดังนั้น จุดยืนของนโยบายการเงินที่ระดับ 2.25% ถือเป็นจุดยืนที่เป็นกลาง สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวในปลายปีนี้ และต้นปีหน้า และจุดยืนยังสอดคล้องกับระบบการเงิน สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ทยอยลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ในบริบทที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนนโยบายการเงินจะต้องพร้อมรองรับเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือนโยบายแบบ Robust Policy และสอดคล้องกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะสั้นและระยะยาว
“หากเราปรับลดดอกเบี้ยวันนี้ เราจะสูญเสียการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space และผลประโยชน์ (Benefit) จะจำกัด เพราะการปรับลดดอกเบี้ย จะส่งผลต่อเศรษฐกิจจำกัด ในภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง เพราะธุรกิจมีความลังเลในการจ้างงานและลงทุน เพราะมี Fixed Cost ดังนั้น ประสิทธิผลของนโยบายจะลดลง” นายสุรัช ระบุ
- อุตสาหกรรมรถยนต์ ชะตากรรมเดียวกันทั่วโลก
ด้านนายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งยุโรป และเยอรมัน จะเห็นว่ามีการประกาศปิดโรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ โดยยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ยังคงมีความท้าทาย และมีผลกระทบต่อไทย แม้ว่าในแง่มูลค่าต่อ GDP ไม่สูงมาก แต่ในแง่จำนวนแรงงาน อาจจะมีสูงกว่า 1 ล้านคน ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบในรอบที่ 2 และ 3 ตามมา จึงเป็นสิ่งที่ ธปท.ต้องจับตา และเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมหนึ่ง ซึ่งในเชิงนโยบายมหภาคก็มีขอบเขตการดูแลธุรกิจเฉพาะ
ทั้งนี้ ตัวเลขสินเชื่อเช่าซื้อ คาดการณ์ว่าตัวเลขจริงในปี 2567 จะออกมาติดลบ หลังจากข้อมูลจริงในไตรมาสที่ 3/67 หดตัว -7.7% โดยในปี 68 สถานการณ์อาจจะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ก็อาจจะขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมยานยนต์ว่าจะปรับตัวดีขึ้นได้เพียงใด ซึ่งมีสัญญาณบางอย่างเริ่มทรงตัว ทั้งราคารถมือสอง และยอดขายรถที่เริ่มดีขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จะใช้ “Data Dependent” หรือ “Outlook Dependent” เป็นหลักนั้น นายปิติ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง จะดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และข้อมูลใหม่อันเป็นประโยชน์ที่เข้ามา ซึ่งการพิจารณาปรับนโยบายการเงินทันทีที่ได้ข้อมูลใหม่เข้ามา ก็อาจจะเป็น Noise ได้ ดังนั้น ธปท.จะพิจารณา Outlook และประเมินไปในระยะข้างหน้าในการปรับเปลี่ยน โดย ธปท.จะใช้ Data ในการเอามาย่อยเพื่อปรับนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า
- จับตานโยบาย ทรัมป์ 2.0 คาดกระทบไทย 3 ช่องทาง
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 68 คาดว่าจะเติบโต 2.9% ซึ่งแม้จะขยายตัวได้ แต่ก็ยังมีความท้าทาย โดยปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เงินโอน 10,000 บาท และมาตรการ “Easy E-Receipt” และภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 39.5 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาภาวะสินเชื่อตึงตัว ที่อาจจะกระทบเศรษฐกิจภาพรวมได้
ขณะที่ความเสี่ยงจากนโยบายใหม่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ผ่านนโยบายการลดภาษี การตั้งกำแพงภาษี พลังงาน และผู้อพยพ ซึ่งจะกระทบ 1.ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ 2.ปริมาณการค้าโลกชะลอตัว หากมีการตอบโต้เกิดขึ้น และ 3.เงินเฟ้อโลกและสหรัฐฯ สูงขึ้น ดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าในระยะสั้น
โดยผลกระทบต่อไทยจะผ่าน 3 ช่องทาง คือ 1.สินค้าไทยต้องแข่งขันกับจีนมากขึ้น (China Flooding) 2.การลงทุน จะเห็นการย้ายฐานการผลิตมาไทย และอาเซียนมากขึ้น และ 3.การเชื่อมโยงระหว่างไทยและจีน หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว อาจมีผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
“ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย หากทรัมป์ มีนโยบายกีดกันทางการค้า จะมีสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยมากขึ้น ซึ่งไทยนำเข้าสินค้าจีนสูงกว่าประเทศอื่น ส่วนการบริโภคสินค้านั้น ไทยและจีนเชื่อมโยงกัน แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะขยายตัวได้ แต่เห็นว่ามีหลาย sector ที่ชะลอตัวและติดลบ เพราะมีการนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งเป็นความเสี่ยงหากมาตรการกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น ก็อาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยได้” น.ส.ปราณี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 68)
Tags: ธปท., ปราณี สุทธศรี, ปิติ ดิษยทัต, สักกะภพ พันธ์ยานุกูล, สุรัช แทนบุญ