PDPC เล็งถก “เฟสบุ๊ก-ไลน์” ร่วมวางมาตรการลงดาบแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ คณะกรรมการเชี่ยวชาญ คณะที่ 2 สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะที่ 2 อยู่ระหว่างการเร่งแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหลและปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ด้วยการหลอกลวงประชาชนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

โดยหลังปีใหม่นี้ สำนักงานฯ จะเชิญผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายบริษัทเข้ามาพูดคุย เพื่อหาแนวทางแก้ไขเยียวยา และอาจทำข้อตกลงในการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการหลอกลวงประชาชนค่อนข้างมาก

สำนักงาน PDPC โดยคณะกรรมการเชี่ยวชาญ คณะที่ 2 จะนัดประชุมกับผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงปัญหาและจะหาแนวทางแก้ไข โดยจะทำข้อตกลงกับผูให้บริการโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ Google, Facebook, LINE, TikTok, Instagram เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หากโซเชียลมีเดียดังกล่าวไม่มีมาตรการใดออกมา คณะกรรมการเชี่ยวชาญ คณะที่ 2 อาจพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยแพลตฟอร์มที่จะเริ่มพิจารณา คือ เฟสบุ๊ก และไลน์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้จำนวนมาก

“ปัญหาข้อมูลรั่วไหลเกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จึงควรมีความรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้น โดยหากไม่มีมาตรการใด ๆ ในการให้ความร่วมมือคงต้องพิจารณามาตรการทางกฎหมายต่อไป” นายไพบูลย์ กล่าว

  • เล็งถกคิวต่อไป ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ-ธนาคารพาณิชย์

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการเชี่ยวชาญ คณะที่ 2 อาจพิจารณาเชิญโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และธนาคารพาณิชย์ มาพูดคุยเพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย ดังนั้น กรณีที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ตนเห็นด้วย

ในต่างประเทศ สหภาพยุโรป และอเมริกา ที่แก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จะระบุหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคาร โดยบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม ต้องมีหน้าที่กลั่นกรองหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้กระทำความผิดผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการ โดยหากผู้ให้บริการโทรคมนาคม ไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อาจต้องมีหน้าที่รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือต้องรับผิดชอบร่วมด้วย

เมื่อจะมีการแก้ไข พ.ร.ก. ดังกล่าว ก็ควรเพิ่มเติมมาตรการในส่วนของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเข้าไปด้วย เพราะมิจฉาชีพไม่ได้ทำความผิดผ่านเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมอย่างเดียว แต่ใช้ช่องทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วย ดังนั้นเมื่อจะแก้ไขกฎหมายก็ควรเพิ่มเติมส่วนของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเข้าไปด้วย

“การเพิ่มความรับผิดชอบของโอเปอเรเตอร์กับธนาคาร เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ส่วนธนาคารก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นด้วย เพราะมองว่าช่องโหว่ที่มิจฉาชีพใช้ทำ ผ่านช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจากโอเปอเรเตอร์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เมื่อโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเกือบทุกแห่งได้ ISO 27001 ก็ควรจะมีมาตรการรับผิดชอบเรื่องนี้ได้” นายไพบูลย์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 68)

Tags: , , , ,
Back to Top