ส่งออกทูน่าไทยปี 68 ยังครองใจตลาดโลก แนะกลยุทธ์ตอบโจทย์ Mega Trend

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2567 ถือว่าเติบโตได้ค่อนข้างดี ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของกลุ่มขยายตัว 24.6%YOY เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่เติบโตสูงถึง 35.2%YOY ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีนี้จะสามารถฟื้นกลับไปอยู่สูงกว่าช่วง Pre-COVID ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับภาพรวมการบริโภคในตลาดโลก และประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ได้รับอานิสงส์จากอุปทานปลาทูน่าจับได้ (Tuna catch) ที่เพิ่มขึ้นมาก จากผลพวงของภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้อุณหภูมิในมหาสมุทรอุ่นขึ้น (Ocean warming) ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และทำให้มหาสมุทรสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังมีผลให้ฝูงปลาทูน่าย้ายถิ่นฐาน (Tuna migration) หนีคลื่นน้ำอุ่นไปรวมตัวกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของมหาสมุทรมากเป็นพิเศษ จึงส่งผลดีต่อการทำประมงในบริเวณนั้น

ปัจจุบัน ไทยยังคงครองแชมป์ประเทศผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2566 ไทมีส่วนแบ่งในตลาดโลกราว 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกรวม 1,924.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ทูน่ากระป๋อง กลายเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ที่ช่วยสร้างงานและรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

SCB EIC ระบุว่า ความสำเร็จดังกล่าว นอกจากจะเป็นผลจากการที่ผู้เล่นไทย ปักหมุดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้อย่างยาวนาน จนทำให้มีความพร้อมด้านทักษะฝีมือแรงงาน มีเทคโนโลยีการผลิตและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่แข็งแกร่ง และครบวงจรแล้ว ไทยยังมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งในการรับซื้อวัตถุดิบทูน่าจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าทูน่ากระป๋องของไทย ยังมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกด้วย

  • แนวโน้มส่งออกทูน่ากระป๋องปี 68 ยังเติบโตดี

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกทูน่ากระป๋องในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ 6.2%YOY สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก และประเทศคู่ค้าของไทย ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยหนุนให้มีการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ รวมทั้งสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ความกังวลต่อความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ และมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก ก็มีส่วนช่วยหนุนให้หลาย ๆ ประเทศยังมีความต้องการกักตุนสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร (Food security) ให้กับประชาชนในประเทศตนเอง ซึ่งทูน่ากระป๋องก็ถือเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากสถานการณ์ดังกล่าว

  • เทรนด์บริโภคอาหารทะเลพรีเมียม

จับตากระแสความนิยมบริโภคอาหารทะเลพรีเมียม ของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับไทยในปรับ Product positioning เพื่อส่งออกทูน่ากระป๋องพรีเมียมไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ปัจจุบันการบริโภคทูน่ากระป๋องของชาวอเมริกัน เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้ว สะท้อนได้จากการบริโภคทูน่ากระป๋องต่อคนต่อปี (Per capita consumption) ที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับความนิยมบริโภคอาหารทะเลพรีเมียมประเภทอื่น ๆ เช่น กุ้ง ล็อบสเตอร์ แซลมอน ที่เพิ่มสูงขึ้

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าว คือการยกระดับมาตรฐานการผลิตทูน่ากระป๋อง รวมถึงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และตอบโจทย์ด้านสุขภาพไปพร้อม ๆ กัน เช่น ใช้ทูน่าสายพันธุ์พรีเมียมอย่าง Yellow fin ใช้เกลือที่มีแร่ธาตุสูงอย่างเกลือหิมาลายันสีชมพู หรือเพิ่มส่วนผสมที่ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น ทูน่าผสมคอลลาเจน เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับเทรนด์ ESG โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความยั่งยืนและการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อตอกย้ำความพรีเมียมของสินค้าและหนุนให้ไทยยังคงเป็นซัพพลายเออร์หลักในสหรัฐฯ ต่อไป

  • ตะวันออกกลาง ยังเป็นตลาดศักยภาพสูง

ภูมิภาคตะวันออกกลาง คือตลาดส่งออกที่มีศักยภาพและน่าจับตามอง เพราะอุปสงค์มีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่อง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง โดยพบว่าการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักดั้งเดิมอย่างสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นค่อนข้างมาก สะท้อนถึงศักยภาพการบริโภคที่น่าจับตามอง

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา การส่งออกไปยังภูมิภาคนี้มีสัดส่วนรวมกันมากถึงราว 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตมาจากความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) และความกังวลต่อสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิสราเอล อิรัก และเลบานอน ที่ยังคงยืดเยื้อ ยังเอื้อให้มีความต้องการกักตุนสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ “ทูน่ากระป๋อง” ยังจัดเป็นสินค้าอาหารพื้นฐานที่ราคาย่อมเยา ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคในทุกระดับรายได้ จึงสามารถบริโภคทดแทนโปรตีนจากเนื้อไก่ หรือเนื้อวัว ที่มีราคาสูงกว่าได้ ส่งผลให้ภูมิภาคตะวันออกกลาง กลายเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพเติบโตสูงและน่าจับตามอง สอดรับกับเป้าหมายของไทยในการเป็นมุ่งสู่การเป็นฮับอาหารฮาลาลอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ภูมิภาคตะวันออกกลางยังเป็นประตูการค้าสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยขยายโอกาสทางการค้าในประเทศที่ 3 ให้กับไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย

  • กลยุทธ์การเติบโต ต้องตอบโจทย์ “เมกะเทรนด์โลก”

ในระยะต่อไป กลยุทธ์การแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่า ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบผ่านการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) รวมไปถึงการปฏิบัติต่อแรงงานในอุตสาหกรรมประมงอย่างเป็นธรรม (Fair labor practice) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การปรับตัวให้สอดรับกับเมกะเทรนด์เหล่านี้ จึงกลายเป็นทั้งทางรอดและโอกาสของธุรกิจ เพราะนอกจากจะเป็นการลดอุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) และปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์และข้อตกลงทางการค้าที่มีแนวโน้มเข้มงวดและซับซ้อนมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลกได้อีกด้วย

ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นหลักที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในเวทีโลก คือการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมโดยการลด Carbon footprint ในห่วงโซ่การผลิตทูน่าอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutrality ภายในปี 2593 ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมทูน่าของไทยตระหนักถึงความสำคัญเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ และกระบวนการผลิตต่าง ๆ อาทิ การใช้เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการของเสียที่สะอาด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น

แต่หากยังมีการปล่อยคาร์บอนหลงเหลืออยู่ ภาคธุรกิจก็อาจเลือกชดเชยผ่านการทำกิจกรรมที่ไปช่วยลด หรือดูดซับคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศทดแทน เช่น การปลูกป่า การปลูกพืชคลุมดินเพื่อตรึงคาร์บอนในดิน การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน การซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่า ควรมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนสูญเสียของกระบวนการผลิต อาทิ การนำผลพลอยได้จากการผลิตทูน่ากระป๋อง (By-products) ไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเปียกสำหรับสุนัขและแมวที่ทำจากปลาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งปลาทูน่า หรือแม้แต่การกลั่นและสกัดน้ำมันปลาทูน่าจากเนื้อปลา เพื่อออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายไปสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี และมีอัตรากำไรค่อนข้างสูงแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจหลัก (Core business) เพียงทางเดียว อีกทั้งยังช่วยหนุนบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารสุนัข และแมวอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย

ขณะเดียวกัน การปรับกลยุทธ์การเติบโตเพื่อรับมือกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งเรื่องความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก รสนิยมของผู้บริโภคในตลาดที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่ภาวะโลกร้อน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าจะมองข้ามไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการยังต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันในตลาดที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย ทั้งจากผู้เล่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน และจากสินค้านวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ ในตลาด เช่น โปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant-based products) หรือ Alternative protein ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top