ยานอวกาศ NASA ยังฉลุย หลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากสุดเป็นประวัติการณ์

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา (NASA) แถลงในวันนี้ (27 ธ.ค.) ว่า ยานปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ (Parker Solar Probe) ยังปลอดภัยและทำงานได้ตามปกติ หลังจากประสบความสำเร็จในการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่วัตถุใด ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นเคยทำได้

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ยานลำนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ด้วยระยะห่างเพียง 3.8 ล้านไมล์ (6.1 ล้านกิโลเมตร) จากพื้นผิวดวงอาทิตย์ โดยบินเข้าไปในชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าโคโรนา (Corona) ภายใต้ภารกิจเพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นดวงดาวที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด

นาซาระบุว่า ทีมปฏิบัติการที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์จอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins Applied Physics Laboratory) ในรัฐแมริแลนด์ได้รับสัญญาณจากยานดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาณยืนยันสถานะ (Beacon Tone) เมื่อช่วงก่อนเที่ยงคืนของวานนี้

นาซาคาดว่า ยานดังกล่าวจะส่งข้อมูลสถานะโดยละเอียดกลับมาในวันที่ 1 ม.ค. 2568

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของนาซาระบุว่า ขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 430,000 ไมล์ต่อชั่วโมง (692,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ยานต้องทนต่ออุณหภูมิสูงสุดถึง 1,800 องศาฟาเรนไฮต์ (982 องศาเซลเซียส)

“การศึกษาดวงอาทิตย์ในระยะใกล้ครั้งนี้ ช่วยให้ยานปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ สามารถเก็บข้อมูลที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจได้ดีขึ้นว่า ชั้นบรรยากาศรอบนอกของดวงอาทิตย์ร้อนจัดได้อย่างไร ลมสุริยะ (กระแสของอนุภาคประจุไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาจากชั้นบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์สู่อวกาศ) เกิดขึ้นได้อย่างไร และบางอนุภาคพลังงานถูกเร่งความเร็วจนเกือบถึงความเร็วแสงได้อย่างไร” นาซาระบุเสริม

ทั้งนี้ ยานปาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 2561 และค่อย ๆ โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาศัยแรงดึงดูดจากการโคจรรอบดาวศุกร์เพื่อปรับวงโคจรให้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top