สื่อนอกยกฮิปโปน้อย “หมูเด้ง” ขึ้นแท่น “Best Year in Asia” ประจำปี 67

แม้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปี 2567 จนทำให้การเฉลิมฉลองเป็นไปอย่างไม่เต็มที่นัก แต่ถึงกระนั้น หลายประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ยังมีความหวังและความชื่นชมยินดีในปีนี้เช่นกัน

ในขณะที่เอเชียกำลังประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับการกลับมาครองทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 2568 และจับตาดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นในปีมะเส็ง (Year of the Snake) ซึ่งเป็นปีนักษัตรนั้น สำนักข่าวซีเอ็นบีซีได้จัดทำบทความที่จะพาผู้อ่านไปร่วมกันสำรวจว่า ปี 2567 เป็นปีที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุดสำหรับประเทศใดและในเรื่องใดบ้าง

 

*ปีที่เลวร้ายที่สุด: ผู้เสียชีวิตจำนวนมากภัยธรรมชาติในเอเชีย

สื่อทั่วโลกต่างก็พาดหัวข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติในเอเชียแปซิฟิกปี 2567 ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาโลกร้อน และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

ภัยพิบัติในปี 2567 ต่างจากเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 และคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 200,000 คน ส่วนในปี 2567 เป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากพายุไต้ฝุ่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน และภัยแล้ง ยกตัวอย่างเช่น ซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ (Yagi) หนึ่งในพายุที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่พัดถล่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพายุลูกนี้ได้สร้างหายนะเป็นวงกว้าง ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ พื้นที่ตอนใต้ของจีนและเวียดนาม ไปจนถึงลาว ไทย และเมียนมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนและสร้างความเสียหายต่อชุมชน

นอกจากนี้ น้ำท่วมที่เกิดจากฝนในฤดูมรสุมประจำปียังทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนในอัฟกานิสถาน บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย และเนปาล ทำให้ปีนี้เป็นหนึ่งในปีที่มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติมากที่สุด

 

*ปีที่เลวร้าย: จำนวนเด็กเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกลดลง

หลายคนตั้งคำถามว่า เด็กทารกหายไปไหนหมด โดยประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกนั้น ผู้ที่หวังจะเป็นปู่ย่าตายายและผู้ที่ชื่นชอบทารกแรกเกิดต้องเผชิญกับอีกหนึ่งปีที่ยากลำบากในปี 2567 นั่นคืออัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rates) ที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งยังคงสร้างความกังวลในประเทศส่วนใหญ่ของเอเชีย รวมถึงเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ตลอดจนไต้หวันและฮ่องกง

รายงานระบุว่า ผู้หญิงทั่วเอเชียตะวันออกมีบุตรน้อยลงหรือไม่มีบุตรเลย โดยบทบาททางเพศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ต้นทุนที่อยู่อาศัย การศึกษา และค่าเลี้ยงดูเด็กที่อยู่ในระดับสูง ถูกมองว่าเป็นปัจจัยบางส่วนที่ส่งผลให้อัตราการเจริญพันธุ์ปรับตัวลง

 

*ปีที่ดี: กระแสเกาหลีมาแรง

ในยุคนี้ ตัวอักษร K กลายเป็นสัญลักษณ์ของเกาหลีใต้โดยปริยาย ไม่ว่าคุณกำลังฟังเพลง K-pop, ดูซีรีส์เกาหลี (K-drama) ใช้ผลิตภัณฑ์ K-beauty ชิมไก่ทอดเกาหลี หรือ K-food อื่น ๆ เท่ากับว่าคุณกำลังอยู่ในกระแส “ฮันรยู” (Hallyu) ซึ่งเป็นกระแสวัฒนธรรมยอดนิยมจากเกาหลีใต้ โดยปี 2567 พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นปีที่ดีสำหรับคลื่นธุรกิจของเกาหลีที่กำลังขยายตัว และเติบโตไปไกลกว่ากลุ่มศิลปินซูเปอร์สตาร์อย่างบีทีเอส (BTS) และแบล็กพิงค์ (Blackpink)

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า เฉพาะแค่บนเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) แพลตฟอร์มเดียว ก็มีภาพยนตร์และซีรี่ส์เกาหลีให้รับชมมากกว่า 300 เรื่อง ซึ่งรวมถึงสควิดเกม (Squid Game) ซีซัน 2 และควีน ออฟ เทียร์ส (Queen of Tears) โดยรายงานของบิสิเนสโคเรีย (BusinessKorea) คาดการณ์ว่า เกาหลีใต้จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกจากกระแส “ฮันรยู” พุ่งแตะ 1.98 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2573

 

*ปีที่ดีที่สุด: “หมูเด้ง” ฮิปโปน้อยผู้สร้างกระแสไวรัลของไทย

ถ้าจะพูดว่าฮิปโปแคระเพศเมียที่มีชื่อ “หมูเด้ง” ตัวนี้ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกในปี 2567 ก็ยังถือว่าน้อยไป

หมูเด้งลืมตาดูโลกในเดือนก.ค.ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และได้สร้าง “กระแสไวรัล” ไปทั่วโลก ทั้งในแง่ของมีม รูปภาพ วิดีโอ โดยบัญชีแฟนคลับของหมูเด้งบนเอ็กซ์ (X), ติ๊กต๊อก (TikTok) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแม้แต่รายการคอมเมดี้ชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง “Saturday Night Live” ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีก็ยังร่วมกระแสความคลั่งไคล้เจ้าหมูเด้ง โดย โบเวน หยาง ดาราอเมริกันเชื้อสายเอเชียได้ทำท่าเลียนแบบหมูเด้งในช่วง “Weekend Update” ของรายการ พร้อมพูดแซวว่าหมูเด้งเป็นฮิปโปน้อยที่อันตรายยิ่งนักเนื่องจากมีชื่อเสียงโด่งดังในชั่วข้ามคืน

หมูเด้งมีชื่อเสียงมากขึ้นเมื่อมันสามารถทำนายผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567 ได้อย่างถูกต้อง โดยการเลือกจานผลไม้และผักที่มีชื่อของโดนัลด์ ทรัมป์ แทนที่จะเป็นของคู่แข่ง คามาลา แฮร์ริส

ปี 2567 อาจเป็นปีมังกร (Year of the Dragon) ในปฏิทินนักษัตร แต่ก็ชัดเจนว่าเป็นปีฮิปโป (Year of the Hippo) ในหัวใจของแฟน ๆ หมูเด้งทั้งในเอเชียและทั่วโลก … และในฐานะที่หมูเด้งช่วยนำความหวังและความสุขมาสู่ภูมิภาคและทั่วโลกที่ต้องการความร่าเริงมากขึ้นนั้น ตำแหน่ง “ปีที่ดีที่สุดในเอเชีย (Best Year in Asia) ประจำปี 2567 จึงตกเป็นของหมูเด้งโดยปริยาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top