ฝ่ายตราสารหนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกบทความนำเสนอหลักการของ ASEAN Transition Finance Guidance (ATFG) ซึ่งเป็น “คู่มือสำหรับการจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” (transition plan) โดยระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum: ACMF) ซึ่งมี ก.ล.ต. เป็นหนึ่งในสมาชิก ได้เปิดตัว ATFG ฉบับที่ 2 ในงานวันครบรอบ 20 ปี ACMF เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
โดย ACMF มุ่งหวังให้บริษัทนำ ATFG ไปใช้อ้างอิงในการจัดทำ transition plan ของบริษัท เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ มีองค์ประกอบที่ครบถ้วนสอดคล้องกับมาตรฐานและคู่มือด้าน Transition finance ต่าง ๆ ในระดับสากล ตลอดจนได้มีกลไกที่ยืดหยุ่นรองรับกับบริบทของภูมิภาคและอุตสาหกรรม และคำนึงถึงระดับความพร้อมที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME)
โดยองค์ประกอบของ transition plan ที่กำหนดไว้ใน ATFG มีหัวข้อที่สอดคล้องกับมาตรฐานหรือคู่มือต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น Climate Transition Handbook ของ International Capital Market Association (ICMA), Guidance on Transition Finance ของ The Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) และ Expectations for Real-economy Transition Plans ของ The Glasgow Financial Alliance for Net Zero (GFANZ) อย่างไรก็ดี ATFG จะมีรายละเอียดมากกว่า รวมถึงมีความยืดหยุ่นกว่าในบางจุด เพื่อให้เหมาะกับบริบทของภูมิภาค และอำนวยความสะดวกในการนำไปใช้จริง ATFG กำหนดว่า transition plan ที่น่าเชื่อถือ ควรมีองค์ประกอบสำคัญตาม 2 หัวข้อหลัก คือ เป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความท้าทาย (Climate ambition) และ ความสามารถในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย (Robustness of ability to deliver) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1.เป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความท้าทาย (Climate ambition)
1.1 Current state assessment (ประเมินสถานะปัจจุบัน) (1) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน โดยครอบคลุมขอบเขต (scope) ที่ 1 และ 2 รวมถึง scope 3 หากมีการปล่อยก๊าซใน scope 3 ในสัดส่วนที่สูงมาก (material) และ (2) เปิดเผยข้อมูลการนำคาร์บอนเครดิตมาใช้ (หากมี)
1.2 Transition pathway (เส้นทางการเปลี่ยนผ่าน/การลดก๊าซเรือนกระจก) เส้นทางการลดก๊าซเรือนกระจก (pathway) ที่นำมาใช้อ้างอิง หรือ reference pathway จะต้องเป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ (science-based) และสอดคล้องกับเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส* โดยสามารถใช้ pathway ที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดทำขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น International Energy Agency (IEA) Network for Greening the Financial System (NGFS) หรือ Science Based Targets Initiative (SBTi) เป็นต้น
นอกจากนี้ ATFG ยังเพิ่มความยืดหยุ่น โดยแนะนำแนวทางในการปรับ reference pathway (augmentation) เพื่อให้สอดรับกับบริบทของธุรกิจตนเองมากขึ้น เช่น ปรับให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1 scope ปรับให้ครอบคลุมก๊าซเรือนกระจกประเภทอื่น ๆ นอกจากคาร์บอน และ ปรับ pathway ให้สะท้อนลักษณะของภูมิภาค
1.3 Transition targets (เป้าหมายในการเปลี่ยนผ่าน/การลดก๊าซเรือนกระจก) เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทที่สอดรับกับ pathway ที่นำมาใช้อ้างอิงตาม 1.2 ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยควรระบุรายละเอียดอย่างชัดเจนสำหรับเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะกลาง ว่าจะลดก๊าซลงเท่าไร และมีการดำเนินการอย่างไรเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
2. ความสามารถในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย (Robustness of ability to deliver)
2.1 Implementation strategy (แผนกลยุทธ์) แผนกลยุทธ์ควรจะต้องครอบคลุมตั้งแต่แผนการดำเนินงาน แผนการจัดสรรงบประมาณ การประเมินความเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและมาตรการรับมือ การติดตามประเมินผลความคืบหน้า และกลไกในการบริหารจัดการและการกำกับดูแล (governance) เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีแนวทางดำเนินการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
2.2 Disclosure (การเปิดเผยข้อมูล) เปิดเผยข้อมูลตาม 1 และ 2 อย่างน้อยปีละครั้ง หรือเมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีที่ข้อมูลบางส่วนมีความอ่อนไหวหรือเป็นความลับ บริษัทสามารถเปิดเผยเพียงหลักการในภาพกว้างต่อสาธารณะได้ ส่วนรายละเอียดในเชิงลึกอาจจะเปิดเผยต่อผู้ประเมินอิสระและผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
2.3 Independent verification (ผู้ประเมินอิสระ) ส่งเสริมให้มีการแต่งตั้งผู้ประเมินอิสระมาทวนสอบทั้งข้อมูลที่เปิดเผยใน transition plan และข้อมูลความคืบหน้ารายปีหรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส
2.4 Just transition considerations (คำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม) การดำเนินงานตาม transition plan เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ต้องไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านอื่น ๆ (เช่น ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการขยะ และการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน) และต่อสังคม (เช่น แรงงาน และผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบโครงการ)
นอกจากนี้ ATFG ยังแนะนำแนวทางในการนำ Taxonomy และ Technology Roadmap for Transition Finance (Technology Roadmap) มาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการอ้างอิงร่วมกันในการจัดทำ transition plan ด้วย (สามารถคลิกอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่ชุดบทความ Transition finance) ดังนี้
(1) ประเมินสถานะปัจจุบันของโครงการ ว่ามีสถานะอยู่ในระดับใดของ Taxonomy (เขียว เหลือง แดง) หรือเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ใน Technology Roadmap หรือไม่
(2) วางแผนงานในอนาคต เนื่องจากทั้ง 2 เครื่องมือข้างต้นมีการกำหนดกรอบเวลาไว้ให้ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับที่ดีขึ้น หรือปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่สะอาดมากขึ้น บริษัทจึงสามารถนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการวางแผน เช่น การกำหนดเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับที่ดีขึ้น การคัดเลือกเทคโนโลยีหรือโครงการที่จะลงทุน การประเมินความเสี่ยงในกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด
ด้านการจัดกลุ่ม Transition plan เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ในอาเซียนโดยเฉพาะ SME ยังมีข้อจำกัดในการจัดทำ transition plan ให้มีข้อมูลครบถ้วนและสอดรับกับเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส ทาง ACMF จึงมีแนวคิดในการจัดกลุ่ม transition plan ของบริษัทออกเป็น 3 ระดับ (ดังภาพด้านล่าง) ได้แก่ Tier 1 : Aligned and aligning – 1.5oC Tier 2 : Aligned and aligning – Well below 2oC และ Tier 3 : Progressing เพื่อให้บริษัทส่วนใหญ่ในอาเซียน ซึ่งอาจยังอยู่ใน Tier 3 สามารถนำ ATFG ไปใช้อ้างอิงได้จริง ในการสื่อสารให้ผู้ลงทุนเห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านอย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ เพื่อดึงดูดเงินทุนสำหรับเปลี่ยนผ่านธุรกิจของตนเองไปสู่ Tier ที่สูงขึ้นได้ในอนาคต โดย ACMF เชื่อว่า บริษัทในทุก Tier ล้วนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต
ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะทำให้เห็นภาพองค์ประกอบสำคัญของ transition plan มากยิ่งขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการจัดสรรเงินทุนไปยังบริษัทที่มีความพร้อมในระดับที่แตกต่างกัน โดยในตอนต่อไป จะเล่าถึงเครื่องมือทางการเงินที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับ Transition finance และตัวอย่างของการออก transition bond ในต่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 67)
Tags: ASEAN, ก.ล.ต., ตราสารหนี้, ตลาดทุน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, อาเซียน