POLY ออกสินค้าใหม่ “อุปกรณ์เก็บเลือดสำหรับผ่าตัดทรวงอก” รับเทรนด์ Homecare ในสหรัฐโต

นางกาญจนา เหลารัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โพลีเน็ต [POLY] เปิดเผยว่า POLY ได้พัฒนาแม่พิมพ์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนงานหลักของ “อุปกรณ์เก็บเลือดสำหรับผ่าตัดทรวงอก” (Chest Drains for Surgery) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยในปี 68 ได้ตั้งเป้าหมายผลิต 1,000 เซตต่อเดือน และเพิ่มเป้าหมายเป็น 2,500-3,000 เซตต่อเดือนในปี 69 และ 10,000 เซตต่อเดือนในปี 70 ตามลำดับ

“อุปกรณ์เก็บเลือดสำหรับผ่าตัดทรวงอก” จะรองรับความต้องการของตลาด Homecare ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดประมาณ 100,950 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7.2% ต่อปี เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าภายในปี 77 จำนวนผู้สูงอายุในสหรัฐฯ จะมีมากกว่าวัยรุ่น และคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดภายในปี 93

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุว่ากว่า 60% ของผู้ป่วยหลังได้รับการรักษาและผ่าตัดทรวงอกในโรงพยาบาลต้องการกลับไปพักฟื้นที่บ้าน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการอนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน เนื่องจากต้องใช้ระบบสุญญากาศในการดูดเลือดออก (Vacuum) จากทรวงอก ซึ่งจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยวัดและบันทึกการรั่วไหลของอากาศ (air leakage) ในทรวงอก / ปอด อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม “อุปกรณ์เก็บเลือดสำหรับผ่าตัดทรวงอก” จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วขึ้น และมีค่าใช้จ่ายลดลงเมื่อเทียบกับการพักฟื้นในโรงพยาบาล เนื่องจากแพทย์สามารถดูและวัดผลแนวโน้มของค่าต่างๆ ผ่านหน้าจอดิจิทัลที่แม่นยำจากอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อวินิจฉัยอาการและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ป่วยจะต้องกลับมาที่โรงพยาบาลเพื่อถอดอุปกรณ์ดังกล่าวหลังจากรักษาตัวเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถพกพากลับบ้านได้ และจะมี Application การตรวจวัดเพื่อให้แพทย์ติดตามผลระหว่างที่คนไข้พักรักษาตัวที่บ้าน

จากความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้ไตรมาส 4/67 นี้ POLY จะมีการรับรู้รายได้จากค่าแม่พิมพ์ การผลิตชิ้นงาน และค่าประกอบชิ้นงาน และเริ่มผลิตชิ้นงานหลักภายในเดือนธันวาคมนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีชิ้นงานอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบเล็กน้อย ซึ่งจะทยอยย้ายฐานการผลิตมาที่ POLY ทั้งหมด มีเพียงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลูกค้าเป็นผู้ผลิตเอง โดยในปี 68 POLY ได้ตั้งเป้ารายได้จากการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวที่ 2 ล้านบาทต่อเดือน และเพิ่มเป็น 5-6 ล้านบาทต่อเดือนในปี 69 และจะเพิ่มเป็น 20 ล้านบาทต่อเดือนภายในปี 71

“สินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนและเครื่องมือทางการแพย์เป็นสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง เนื่องจากมีความซับซ้อนทางการผลิต และเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อความต้องการใช้ คาดว่าในการผลิตแม่พิมพ์ ชิ้นงาน และประกอบชิ้นของอุปกรณ์ผ่าตัดทรวงอก จะมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่า 50% ซึ่งจะทำให้ POLY มีกำไรขั้นต้นจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 68-71” นางกาญจนา กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top