ไปได้สวย! ส่งออกไทยพ.ย.โต 8.2% ทั้งปีคาด 5% ทะลุ 3 แสนล้านดอลล์ทุบสถิติ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพ.ย.67 ว่า การส่งออกของไทยมีมูลค่า 25,608 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 8.2% จากตลาดคาด 7.0-9.0% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,835 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.9% ส่งผลให้เดือนพ.ย.67 ไทยยังขาดดุลการค้า 224 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.67) การส่งออกของไทย มีมูลค่า 275,763 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.1% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 282,033 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.7% ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปีนี้ ไทยยังคาดดุลการค้า 6,269 ล้านดอลลาร์

ผู้อำนวยการ สนค. เชื่อมั่นว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 67 นี้ มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 5.2% อย่างแน่นอน โดยมีมูลค่าแตะ 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า หากพิจารณาการส่งออกเดือนพ.ย.เป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าทุกกลุ่มสินค้ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • สินค้าเกษตร ขยายตัว 4.1% ที่มูลค่า 2,216 ล้านดอลลาร์ โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สำหรับสินค้าสำคัญ ที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง, ยางพารา และไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.7% ที่มูลค่า 1,910 ล้านดอลลาร์ โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สำหรับสินค้าสำคัญ ที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะลกระป๋อง และแปรรูป
  • สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.5% ที่มูลค่า 20,537 ล้านดอลลาร์ โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สำหรับสินค้าสำคัญ ที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ

โดยตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยในเดือน พ.ย.นี้ ได้แก่ อันดับ 1 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 31.8% อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 28.71% อันดับ 3 CLMV ขยายตัว 21% อันดับ 4 เอเชียใต้ ขยายตัว 18.3% อันดับ 5 จีน ขยายตัว 16.9% อันดับ 6 แอฟริกา ขยายตัว 13.8% อันดับ 7 สหราชอาณาจักร ขยายตัว 12% อันดับ 8 สหภาพยุโรป ขยายตัว 11.2% อันดับ 9 แคนาดา ขยายตัว 10.3% และอันดับ 10สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 9.5%

สำหรับปัจจัยหนุนสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกของไทยในเดือนพ.ย.นี้ มาจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของโลก ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่ และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตร และอาหารในตลาดโลก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ

อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวม 11 เดือนแรกปีนี้ ไทยจะยังขาดดุลการค้ากว่า 6 พันล้านดอลลาร์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากการนำเข้าแม้จะมีมูลค่าสูงในแต่ละเดือน แต่ก็เป็นการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเชื้อเพลิง รวมทั้งสินค้าทุน และวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการนำเข้ามาเพื่อการผลิตสินค้าทั้งส่งออก และจำหน่ายภายในประเทศ

ส่งออกปี 68 คาดโต 2-3%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2568 ผู้อำนวยการ สนค. คาดว่าจะขยายตัวที่ 2-3% ภายใต้บริบทความท้าทายที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ดี ด้วยการขับเคลื่อน 10 นโยบายยุทธศาสตร์การส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การขยายฐานตลาดการค้าใหม่ ไปจนถึงการเร่งผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้ครอบคลุมพันธมิตรทางการค้าในทุกภูมิภาค ประกอบกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และรักษาการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะต่อไป

ส่วนโครงการ Easy E-receipt 2.0 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติ โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่กลางเดือนม.ค.-สิ้นเดือนก.พ.68 นั้น เห็นว่า รัฐบาลพยายามจะรักษาโมเมนตัมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตในระดับที่มากกว่า 3% ดังนั้น ทั้งมาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านการคลังที่ออกมาในช่วงนี้ จึงคาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในประเทศได้เป็นอย่างดี

นายพูนพงษ์ ยังกล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 ว่า จะยังไม่ส่งผลกระทบในระยะสั้น แต่ในระยะยาว สนค.กำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งในแง่ของเงินเฟ้อ และการส่งออก

“ระยะสั้นคงยังไม่ส่งผล เหรียญมี 2 ด้านเสมอ คงต้องดูเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม แต่กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีมาก ก็คงมีผลกระทบน้อยกว่า” นายพูนพงษ์ กล่าว

ขณะที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังเป็นความท้าทายสำหรับการส่งออกไทยในปีหน้า คือ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อ, การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมทั้งกฎระเบียบต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม

“โจทย์สำคัญของเราคือ ผู้ประกอบการไทยจะต้องระมัดระวัง และตื่นตัวในการลดต้นทุน เพราะชัดเจนแล้วว่าค่าแรงจะปรับขึ้น ดังนั้นการลดต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพให้กับแรงงานด้วย” นายชัยชาญ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top