คลัง มองเงินเฟ้อปีหน้า 2% เป็นไปได้ หลังคลัง-ธปท. ประสานนโยบายดีขึ้น

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อในปี 68 ที่คาดว่าค่ากลางจะอยู่ที่ 2% มีความเป็นไปได้ หลังที่ผ่านมาการประสานระหว่างนโยบายการเงินและการคลังดีขึ้น ซึ่งในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อนั้น นโยบายการคลังมีหน้าที่ดูว่าเศรษฐกิจฝืด หรือมีทิศทางเป็นอย่างไร และต้องเข้าไปกระตุ้นด้วยมาตรการทางการคลัง ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าภาคการคลังมีพื้นที่จำกัด ขณะที่มาตรการด้านการเงินก็ต้องพิจารณาผ่านเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นทั้ง 2 ขาจึงต้องทำงานร่วมกัน จะเหยียบคันเร่ง หรือเหยียบเบรกก็ต้องพิจารณาร่วมกัน

“ที่ผ่านมาการประสานระหว่างนโยบายการเงินและการคลังดีขึ้น หลังจากที่เรามีการพูดคุยกันมากขึ้น มีการจูนภาพทางเศรษฐกิจให้ตรงกันมากขึ้น ทำให้มุมมองต่อเศรษฐกิจ และการมองความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจตรงกันมากขึ้น สะท้อนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อนั้น การทำให้ค่ากลางขึ้นไปแตะที่ 2% น่าจะเป็นไปได้ เพราะยังเชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อวิ่งขยับขึ้นมาพอสมควร ขณะที่มาตรการด้านการคลังจะมีเม็ดเงินก้อนใหญ่อัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจ ก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ค่อย ๆ ดีขึ้น ทั้งหมดคือความพยายามที่จะช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อวิ่งขึ้นไปแตะค่ากลาง” นายเผ่าภูมิ กล่าว

สำหรับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านมาตรการด้านการคลังนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า จะต้องพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจ ความเหมาะสมของเวลา เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด ดังนั้นอาจจะต้องเปลี่ยนจากการกระตุ้นมาเป็นการรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินการจะต้องดูว่าช่วงไหนจะปรับ ช่วงไหนจะชะลอ ต้องดูความเหมาะสมในการใส่เม็ดเงินข้าระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก

โดยในปี 2568 ไม่เพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และโครงการ Easy E-Receipt แล้ว ยังมีมาตรการอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะเรื่องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ เช่น การมุ่งสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Thailand Financial Center) ผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่จากธุรกิจการเงินระหว่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ไม่เกินเดือน ก.พ. 68

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะต้องพิจารณาใน 2 เรื่องหลัก คือ

1. อัตราแลกเปลี่ยนต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่ง

2. ต้องไม่ผันผวน ฉวัดเฉวียนจนเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถวางแผนในการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้

ขณะที่การเข้าไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับการที่จะทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ นั่นหมายความว่าการดูแลเรื่องนี้จะต้องดูไปถึงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและนโยบายทางการเงินในภาพรวม ที่จะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม

“ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนของไทยดีขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาพอสมควร เพราะที่ผ่านมาเคยลงไปที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์ ตอนนั้นถือว่าแย่เลย อยู่ในจุดที่มีปัญหา แต่ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้น ส่วนถามว่าจะดีขึ้นจนอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เลยหรือไม่ คงพูดวันนี้ไม่ถูก เพราะต้องดูไดนามิกของปัจจัยต่าง ๆ ประกอบด้วยว่าในขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ที่ระดับไหน” นายเผ่าภูมิ กล่าว

สำหรับกรณีมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลเตรียมจะล้วงทุนสำรองของประเทศออกมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น รมช.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยมีแนวคิดที่จะนำทุนสำรองของประเทศออกมาใช้ เรื่องนี้ยังไม่เคยมีการพิจารณา ไม่เคยมีการหารือ และไม่มีแนวคิดอย่างแน่นอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top