ทำความเข้าใจ DNSSEC เสริมความปลอดภัยให้กับอินเทอร์เน็ต

ระบบการตั้งชื่อโดเมน (Domain Name System – DNS) มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของอินเทอร์เน็ต โดยจะทำหน้าที่แปลงชื่อโดเมน เช่น www.abc.com ให้เป็น IP Address เช่น 122.950.34.138 ที่คอมพิวเตอร์ใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน โดย DNS นั้น เปรียบเหมือนสมุดโทรศัพท์ ในขณะที่ IP Address เปรียบเสมือนหมายเลขโทรศัพท์นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า DNS จะเป็นระบบที่สำคัญและถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน แต่การรักษาความปลอดภัยของระบบก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงเป็นอันดับต้น ๆ

เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางไซเบอร์ วันนี้ OPEN-TEC (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC TECHNOLOGY GROUP จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Domain Name System Security Extensions (DNSSEC) ระบบที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและปกป้องข้อมูลในระบบ DNS

DNSSEC คืออะไร?

Domain Name System Security Extensions (DNSSEC) เป็นชุดโปรโทคอล (protocol) ความปลอดภัยที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องระบบ DNS ซึ่งเป้าหมายหลักของ DNSSEC คือการรับรองความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล DNS เพื่อลดโอกาสและป้องกันผู้ใช้จากการโจมตีทางไซเบอร์ที่มาจากหลากหลายวิธี อาทิเช่น การปลอมแปลง DNS (DNS Spoofing) โดยการส่งข้อมูลปลอมเพื่อหลอกผู้ใช้ให้ไปยังเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย และการใส่ข้อมูลเสียหายลงในแคช (Cache Poisoning) โดยข้อมูลที่ถูกแก้ไขหรือปลอมแปลงจะถูกบันทึกในแคชของDNS Resolver ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้จำนวนมาก เป็นต้น ทั้งนี้ DNSSEC จะใช้เทคนิคการเข้ารหัสเพื่อยืนยันว่าข้อมูล DNS ที่ผู้ใช้ได้รับนั้นถูกต้องและมาจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือถูกดักจับระหว่างทาง

DNSSEC ทำงานอย่างไร

DNSSEC ใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure – PKI) ในการลงนามดิจิทัลข้อมูล DNS เพื่อรับรองความถูกต้อง โดยมีขั้นตอนทที่สำคัญดังนี้:

1. การสร้างคู่กุญแจ (Key Pair Generation) ซึ่งประกอบไปด้วย กุญแจสาธารณะ (Public Key) และกุญแจส่วนตัว (Private Key) สำหรับกุญแจสาธารณะนั้นจะถูกเผยแพร่ใน DNS ในขณะที่กุญแจส่วนตัวจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัย

2. การลงนามดิจิทัล (Digital Signatures) โดยกุญแจส่วนตัวจะถูกนำไปใช้ในการสร้างลายเซ็นดิจิทัลสำหรับข้อมูล DNS ซึ่งลายเซ็นนี้จะถูกเพิ่มเข้าไปในคำตอบ DNS เพื่อยืนยันความถูกต้อง

3. การตรวจสอบความถูกต้อง (Validation) เมื่อ Resolver ได้รับข้อมูล DNS ที่ลงนามแล้ว จะใช้กุญแจสาธารณะเพื่อตรวจสอบลายเซ็น หากลายเซ็นถูกต้อง Resolver จะยอมรับข้อมูล แต่หากไม่ถูกต้อง จะปฏิเสธข้อมูลนั้นทันทีเพื่อป้องกันการโจมตี

ข้อดีของ DNSSEC

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า DNSSEC นั้นมีประโยชน์มากมาย ตั้งแต่ด้านความถูกต้องของข้อมูล (Data Authenticity) ที่ใช้รับรองว่าข้อมูล DNS นั้นถูกต้องและมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้, การตรวจจับการแก้ไข (Tamper Detection) ที่ใช้ป้องกันการเปลี่ยนแปลงข้อมูล DNS โดยไม่ได้รับอนุญาต และการใช้งานเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ (Trustworthy Browsing) ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์

การใช้งานในโลกจริง

หลักการของ DNSSEC ในการรับรองความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูลยังถูกนำไปใช้ในระบบความปลอดภัยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ธุรกรรมออนไลน์ เพื่อรับรองการสื่อสารที่ปลอดภัยระหว่างธนาคารและลูกค้า, ใบรับรองดิจิทัล (Digital Certificates) เพื่อยืนยันความถูกต้องของซอฟต์แวร์หรือเอกสาร และการยืนยันตัวตนแบบสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication) เพื่อป้องกันรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) ด้วยเทคนิคการเข้ารหัส

ข้อจำกัดและความท้าทาย

แม้ว่า DNSSEC จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับ DNS ได้อย่างมาก แต่ก็มีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณาอีกด้วยเช่นกัน อาทิเช่นความซับซ้อนในการใช้งาน (Implementation Complexity) ซึ่งการตั้งค่า DNSSEC ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคสูง และหากมีข้อผิดพลาดอาจทำให้ระบบขัดข้องได้, ผลกระทบต่อประสิทธิภาพ (Performance Overhead) โดยการตรวจสอบความปลอดภัยเพิ่มเติมอาจทำให้การแก้ไข DNS ช้าลงเล็กน้อย และ อัตราการนำไปใช้งาน (Adoption Rates) อาจยังไม่ครอบคลุมมากพอ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพของ DNSSEC ยังไม่เสถียรมากนัก

สุดท้ายนี้ DNSSEC ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมความปลอดภัยให้กับอินเทอร์เน็ต โดยการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของ DNS จากการปลอมแปลงและการแก้ไขข้อมูล ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกต้องและปลอดภัยยิ่งขึ้น แม้ว่า DNSSEC จะยังเผชิญกับความท้าทายในด้านการนำไปใช้งาน แต่ประโยชน์ของ DNSSEC ทำให้กลายเป็นส่วนสำคัญของระบบความปลอดภัยในโลกดิจิทัลนั่นเอง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top