หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานโดยอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ว่า กลยุทธ์ของอินโดนีเซียที่กดดันให้แอปเปิ้ล (Apple) เพิ่มการลงทุนในประเทศ เพื่อให้สามารถจำหน่ายไอโฟน (iPhone) รุ่นใหม่ได้ ดูเหมือนว่าจะประสบผลสำเร็จด้วยคำมั่นสัญญามูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดด้านการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (local content) ที่เข้มงวดอาจกลายเป็น “ดาบสองคม”
ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายเดือนต.ค. ทางการอินโดนีเซียสั่งห้ามไม่ให้จำหน่าย iPhone 16 เนื่องจากแอปเปิ้ลยังไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการลงทุนในประเทศ ซึ่งกำหนดไว้ว่าสมาร์ตโฟนที่วางจำหน่ายจะต้องมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Content) ให้ได้ 40% ด้วยเหตุนี้ แอปเปิ้ลตอบสนองด้วยการเสนอการลงทุนใหม่มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซีย ก่อนจะเพิ่มข้อเสนอเป็น 100 ล้านดอลลาร์
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียยังไม่พอใจ แอปเปิ้ลจึงแจ้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นจำนวนที่ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ยอมรับได้
นอกจากนี้ หนึ่งในซัพพลายเออร์ของแอปเปิ้ลจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิต AirTag บนเกาะบาตัมของอินโดนีเซีย โดยจะจ้างพนักงานประมาณ 1,000 คน พร้อมทั้งจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนเพื่อก่อตั้งโรงงานในเมืองบันดุงเพื่อผลิตอุปกรณ์เสริมประเภทอื่น ๆ ตลอดจนให้ทุนแก่สถาบันต่าง ๆ ของแอปเปิ้ลในอินโดนีเซีย เพื่อฝึกฝนทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การเขียนโค้ด ให้แก่นักเรียนนักศึกษา
เดดี ดินาร์โต หัวหน้านักวิเคราะห์อินโดนีเซียของโกลบอล เคาน์เซล (Global Counsel) บริษัทที่ปรึกษานโยบายสาธารณะในสิงคโปร์ กล่าวว่า ข้อเสนอของแอปเปิ้ลแสดงให้เห็นว่า “การผลักดันของอินโดนีเซียในเรื่องข้อกำหนดด้านการใช้ชิ้นส่วนและการผลิตในประเทศเริ่มเกิดผล”
เดดีเสริมว่า รัฐบาลหวังว่าอินโดนีเซียจะไม่ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ตลาดสำหรับสินค้าต่างชาติ แต่ต้องการให้ถูกผนวกเข้าไปในกระบวนการผลิตด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ข้อกำหนดให้บริษัทต่างชาติใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศอาจช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศได้ แต่นักวิเคราะห์เตือนว่าอาจเป็นดาบสองคม เพราะอาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและเพิ่มขั้นตอนด้านระบบราชการ ทั้งยังอาจลดศักยภาพทางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอินโดนีเซีย
แม้การลงทุนของแอปเปิ้ลจะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ แต่หอการค้าอเมริกันระบุว่าข้อกำหนดดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความสามารถด้านการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงของอินโดนีเซียในปัจจุบัน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานและทักษะแรงงาน
นักวิเคราะห์มองว่าแม้บริษัทที่มีอยู่แล้วจะสามารถปรับตัวได้ แต่กฎเหล่านี้อาจทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ไม่กล้าเข้ามาลงทุน และหันไปมองหาตลาดที่มีอุปสรรคน้อยกว่าแทน ความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับการสร้างสมดุลระหว่างกฎระเบียบและการรักษาบรรยากาศการลงทุนที่เอื้อต่อธุรกิจต่างชาติ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 67)
Tags: Apple, iPhone, อินโดนีเซีย, แอปเปิ้ล, ไอโฟน