“ดร.เอ้” ถอดบทเรียนของไทยวิเคราะห์ 4 ปัจจัยหลักทำ NVIDIA เลี้ยวเข้าลงทุนเวียดนาม

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์เชิงลึกถึงปรากฏการณ์สำคัญที่ NVIDIA บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน AI ระดับโลกเลือกลงทุนในเวียดนาม พร้อมตั้งคำถามชวนคิดว่า ไทยจะรับมืออย่างไรเมื่อเวียดนามกำลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจแห่งอาเซียน

นายสุชัชวีร์ ระบุว่า ได้ยินจากปากนายเจนเช่น หวง ประธานบริหาร Nvidia บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ AI ที่ใหญ่ที่สุดในโลกว่าจะไปเปิดศูนย์ออกแบบและวิจัยที่เวียดนาม ก่อนที่ Nvidia จะประกาศอย่างเป็นทางการ จึงถามกลับทันทีว่าเวียดนามเสนอให้อะไรถึงได้ตัดสินใจเข้าไปลงทุนศูนย์ออกแบบ ที่เป็นหัวใจและมันสมองของอุตสาหกรรมไฮเทคที่ทุกคนหวงแหน แต่คนสนิทของนายเจนเซ่น หวง ขยับห้ามไม่ให้นายพูดอะไรต่อ นายเจนเซ่นจึงตอบเพียงว่า “มันไม่สำคัญหรอก” (ไทยอย่าไปรู้เลย)

“แต่ผมรู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพราะผมในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย “CMKL” ที่ Carnegie Mellon สถาบันระดับโลกด้าน AI มาก่อตั้งร่วม เราเป็น “ลูกค้าคนแรก” ที่ซื้อ “ซุปเปอร์ AI คอมพิวเตอร์” รุ่น DGX-A100 ความเร็วสูงสุดในประเทศจาก Nvidia เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยิ่งผมนั่งตรงข้าม “ตามองตา” กับ “เจนเซ่น หวง” เราเป็นพันธมิตรกันมาหลายปี “รู้กัน” จึงตอบคำถามได้ไม่ยาก”

นายสุชัชวีร์ ระบุว่า มี 4 ปัจจัยที่ทำให้บริษัทระดับโลกไปลงทุนที่เวียดนาม

  1. เวียดนามพัฒนาคุณภาพคน ประสบการณ์พบว่า “เด็กเวียดนาม” ฉลาด เก่ง และขยันมากกว่า ทั้งคะแนนวัดผล PISA ชี้ชัดว่าเด็กเวียดนามได้คะแนนสูงที่สุดในอาเซียน เป็นรองเพียงเด็กสิงคโปร์เท่านั้น และเวียดนามยังส่งเด็กรุ่นใหม่ไปเรียนในสาขาวิศวกรรม และคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยระดับโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และรัสเซีย มากกว่าชาติใดในอาเซียน เพื่อกลับมาสร้าง “นวัตกรรม” พัฒนาเวียดนามสู่โลก AI เต็มรูปแบบ เป็นการพิสูจน์ว่าเวียดนามทุ่มเทพัฒนาคุณภาพคนตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาเอก จึงไม่แปลกที่บริษัทไฮเทค ทั้ง Nvidia Apple และ Samsung ถึงยอมมาลงทุนที่เวียดนาม เพราะได้ “คนเก่ง” ที่คุ้มค่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับ “ค่าจ้าง”

  2. เวียดนามสนับสนุนการลงทุน เพราะเวียดนามเรียนรู้จาก “จีน” เรื่องการดึงดูดทุนต่างชาติ ด้วยวิธี “วันนี้ฉันยอมเธอก่อน วันหน้าฉันทำได้เอง แล้วค่อยว่ากัน” คือ ยอมสนับสนุนให้สิทธิพิเศษมากมาย เมื่อบริษัทไฮเทคมาลงทุนสร้างโรงงานหรือศูนย์วิจัย ก็ได้ให้ SME เวียดนามได้เป็น Supplier เรียนรู้จนทำได้เองในที่สุด เลียนแบบกรณีจีนยอมให้ Tesla มาตั้งโรงงานเพื่อให้ SME จีนเรียนรู้ สุดท้ายจีนกลายเป็น “เจ้าตลาด” รถพลังงานไฟฟ้าไปเรียบร้อย

  3. เวียดนามมีนโยบายต่อเนื่อง ไม่ว่าผู้นำจะเป็นใครแต่นโยบายไม่เปลี่ยน ยังสานต่อสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติ นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1986 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม เปิดประเทศให้กับการลงทุนจากต่างชาติ นโยบายนี้จึงเดินไปอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเวียดนามเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2007 ซึ่งช่วยเสริมความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เวียดนามได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Economic Zones) ตามแบบจีน ยิ่งเกิดการลงทุนแบบก้าวกระโดด จนถึงทุกวันนี้

  4. เวียดนามสามัคคี ช่วยเหลือกัน ด้วยความที่เป็นประเทศสังคมนิยมที่บอบซ้ำจากสงครามยาวนาน เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส และเคยอยูใต้อิทธิพลของจีนมานานนับพันปี แต่วันนี้ผงาดขึ้นเป็นประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดทั้งด้านเศรษฐกิจ เพราะรู้ว่าทางรอดมีทางเดียว คือ “ชาตินิยม” คนเวียดนามไม่ว่าอยู่ที่ใดจึง “รวมกันติด” และ “ช่วยเหลือกัน” ผลักดัน “ทุกรูปแบบ” ให้รัฐบาลสหรัฐ ยุโรป และรัสเซีย ต้องสนับสนุนเวียดนาม

นายสุชัชวีร์ ระบุว่า ชาตินิยมแบบเวียดนาม จึงเป็นความรักชาติที่กลมกล่อม ไม่ไปรุกรานใคร แต่ก็พร้อมจะแข่งขันกับทุกคน ขอพยาการณ์ว่า เวียดนามจะเป็น “ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน” และอาจขึ้นเทียบชั้นกับ “เกาหลี” ในอนาคตได้

“ที่จริงไทยเราจับสัญญาณการก้าวกระโดดของเวียดนามได้มาพักใหญ่ เพราะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงชัดเจนมาก อย่างต่อเนื่อง แต่ไทยเรายังนิ่งไม่เข้าสู่โหมดแข่งขันอย่างจริงจังสักที ทำให้เสียโอกาสไปทุกวัน ที่ไม่อาจย้อนคืน แม้ผมยังเชื่อมั่นว่า #คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ก็กังวลไม่น้อย เมื่อรู้แจ้งว่า เวียดนามและชาติอื่น ไม่มีใครอยู่นิ่งเลย ทุกชาติทุ่มสุดตัวพร้อมแข่งขัน แล้วไทยจะทำอย่างไร”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top