น้ำมัน WTI ปิดลบ 22 เซนต์ เหตุดอลล์แข็ง-กังวลอุปทานล้นตลาด

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (23 ธ.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดในปีหน้า

  • ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 22 เซนต์ หรือ 0.32% ปิดที่ 69.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 31 เซนต์ หรือ 0.43% ปิดที่ 72.63 ดอลลาร์/บาร์เรล

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.39% แตะที่ระดับ 108.037 เมื่อคืนนี้ โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด โดยนักวิเคราะห์จากบริษัทแมคควอรี (Macquarie) คาดการณ์ว่าภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 70.50 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากราคาเฉลี่ยของปีนี้ที่ 79.64 ดอลลาร์/บาร์เรล

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยลบจากการที่ซิโนเปค ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของจีนออกรายงานระบุว่า การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนจะแตะระดับสูงสุดอย่างเร็วที่สุดในปี 2568 และปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศจะแตะระดับสูงสุดในปี 2570 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลลดน้อยลง

ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาดเบาบางก่อนวันหยุดเนื่องในเทศกาลคริสต์มาส โดยตลาดสินค้าโภคภัณฑ์สหรัฐฯ จะเปิดการซื้อขายเพียงครึ่งวันในวันนี้ (24 ธ.ค.) ก่อนที่จะปิดทำการในวันพุธที่ 25 ธ.ค. เนื่องในเทศกาลคริสต์มาส

นักลงทุนจับตานโยบายด้านพลังงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังจากทรัมป์ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป (EU) หากบรรดาชาติสมาชิก EU ไม่เพิ่มการซื้อน้ำมันและก๊าซจากสหรัฐฯ

สื่อต่างประเทศรายงานว่า ขณะนี้บรรดาผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมถึง EU และเวียดนาม ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับการซื้อเชื้อเพลิงเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากการเก็บภาษีนำเข้า

ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่จีนไปจนถึงแคนาดา และให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเทศที่มีการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ ส่วนยุโรปนั้นถือเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งสำหรับการส่งออกก๊าซ LNG ของสหรัฐฯ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top