TSB โชว์ EBITDA เริ่มบวก Q3/67 มั่นใจปี 68 รายได้โตตามผู้โดยสาร-เพิ่มรถ ทุ่ม 50 ลบ.ตั้งระบบติดตามรถเรียลไทม์

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) เปิดเผยว่า ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา มีการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการให้บริการเดินรถไทย สมายล์ บัส ที่มียอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการที่ผู้ประกอบการเดินรถในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ได้มีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เส้นทางปฎิรูป 100% ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายเข้ามาอยู่ในกฎกติกาเดียวกัน รวมถึงการถอดถอนของกลุ่มผู้ให้บริการรถร่วม

นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงระบบปฎิบัติการภายใน ทั้งการควบคุมคุณภาพการเดินรถ พัฒนาบุคลากร จัดทำให้การเดินรถมีมาตรฐาน มีความแน่นอนมากขึ้นในหลายเส้นทาง สะท้อนได้จากข้อร้องเรียนพฤติกรรมการขับขี่ของกัปตันเมล์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ยังมีบางกลุ่มเส้นทางที่ผู้โดยสารไม่ตอบสนอง ทำให้รายได้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้จัดทำแผนพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดผู้โดยสารในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยวันละ 3.8 แสนคน จากช่วงต้นปีอยู่ที่ 2.5 แสนคนต่อวันเท่านั้น

ปัจจุบันรถที่ให้บริการเฉลี่ยวันละ 1,650 คัน (ไม่รวมรถหมุนเวียน) จากเดิมที่มีรถให้บริการในช่วงต้นปีอยู่ที่ 1,251 คัน หรือมีการเพิ่มรถเข้าระบบบริการกว่า 32% และในปีหน้ายังคงมีแผนเพิ่มรถอีก 350 คัน รวมให้บริการเป็น 2,000 คันต่อวัน ซึ่งเป็นรถที่ได้มีการจัดหาและจดทะเบียนไว้แล้วจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,350 คัน แต่การนำมาบรรจุวิ่งในแต่ละเส้นทางจะเป็นไปตามปริมาณผู้โดยสาร

“ขณะนี้บริษัทฯกำลังติดตั้งระบบการติดตามการปล่อยรถ ยกระดับให้เหมือนหอบังคับการบิน และจะเริ่มใช้ในปี 68 โดยจะสามารถมอนิเตอร์รถทุกคันของ TSB ได้อย่างเรียลไทม์ ดูระยะห่าง เข้าป้ายกี่โมง สภาพการจราจร ไปจนถึงการแจ้งไปยังรถที่อยู่บนถนนให้สามารถรู้ระยะห่างของแต่ละคันได้ พร้อมพัฒนาบุคลากรในส่วนควบคุมควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น TSB จะเป็นเจ้าแรกที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับ ไปจนถึงฝึกสอนบุคลากรทั้งระบบ ควบคุมคุณภาพด้วยระบบเทคโนโลยี สร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมรถเมล์ของไทยอย่างยั่งยืน” นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าว

ในภาพรวมปี 68 จะมีการลงทุนไม่มากประมาณ 50 ล้านบาท บริษัทฯ ยึดแนวทาง 4 ข้อ ได้แก่ 1.การพัฒนาคุณภาพการให้บริการ 2.พัฒนาบุคลากร 3.พัฒนาเป็นระบบเดินรถ และ 4.ใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการทำงาน เชื่อว่าจะช่วยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนแน่นอน ขณะที่ ผลการดำเนินงาน EBITDA เป็นบวกช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 คาดหมายปี 68 จะดีขึ้นตามปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

ด้านนายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด กล่าวว่า ปี 2567 มีรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท (รายได้เฉลี่ย 7 ล้านบาท/วัน) เป้าหมายรายได้ปี 68 จะเพิ่มเป็น 9-10 ล้านบาท/วัน (+30-40%) และประเมินว่าจะเริ่มมีกำไรสุทธิในอีก 2 ปี

ส่วนการให้บริการปัจจุบันบริษัท ได้รับใบอนุญาตอยู่ 124 เส้นทาง พร้อมกับได้ให้บริการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เป็นการชั่วคราว (ใบอนุญาต ม.41) จำนวน 8 เส้นทาง โดย TSB พร้อมขยายช่วงจากเส้นทางใกล้เคียงเดิม ให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด หรือหาก กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีการเปิดเส้นทางเพิ่มเติมบริษัทฯ ก็พร้อมพิจารณาเข้าร่วมต่อไปเพื่อสร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ

“ก่อนหน้านี้ บริษัทฯได้เสนอแผนไปที่กรมขนส่งฯเพื่อขอปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเดินทางปัจจุบัน เนื่องจากเส้นทางในแผนปฎิรูปหลายเส้นทางไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และยังขอตัด/ขยายบางเส้นทาง เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับเส้นทางของรถร่วมฯอื่นเพื่อให้ผู้โดยสารสะดวกและสามารถใช้บัตร Hop card ราคา 40 บาทตลอดวัน ที่จะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าเดินทางลง”

นายวรวิทย์กล่าวว่า ใบอนุญาตอยู่ 124 เส้นทาง ขณะนี้ยังมีกว่า 20 เส้นทางที่ผู้โดยสารน้อยกว่าคาด ทำให้ยังบรรจุรถไม่ถึงจำนวนขั้นต่ำของใบอนุญาต ที่ 5 คัน ซึ่งก็จะต้องหาแนวทางเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร เช่น ขยายหรือตัดเส้นทางให้เกิดการเชื่อมต่อที่ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ในเส้นทางที่มีปริมาณผู้โดยสารมาก บริษัทฯได้ขอ กรมขนส่งฯ บรรจุรถเกินจำนวนเพดานขั้นสูงที่ใบอนุญาตกำหนด

โดยมี 4 เส้นทางที่มีจำนวนผู้โดยสารและรายได้สูงสุดต่อวัน ได้แก่ 1. สาย 2-38 ( สาย 8 เดิม) ผู้โดยสาร 20,500 คน รายได้ 358,328 บาท 2. สาย 4-25 (สาย147L เดิม) ผู้โดยสาร 14,000 คน รายได้ 250,421 บาท 3. สาย 4-46 (สาย 84 เดิม) ผู้โดยสาร 13,000 คน รายได้ 240,000 บาท 4. สาย 4-23 (สาย 140 เดิม) ผู้โดยสาร 12,000 คน รายได้ 237,191บาท 5.สาย 1-18E (504) ผู้โดยสาร 9,000 คนต่อวัน รายได้ 177,159 บาทต่อวัน

ทั้งนี้ ปี 68 ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 4.5-4.8 แสนคนต่อวัน

“บริษัทมีต้นทุนด้านบุคลากรสัดส่วนประมาณ 60% โดยมีค่าเฉลี่ยพนักงาน 1.4 คน ต่อรถ 1 คัน ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง เทียบกับผู้ประกอบการอื่นที่มีค่าเฉลี่ย 3 คนต่อรถ 1 คัน และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (รถEV) 10% ซึ่งต่ำกว่า NGV ประมาณ 2-3 เท่า อีก 10% เป็นต้นทุนซ่อมบำรุง และอีก 30% เป็นต้นทุนคงที่ต่างๆ

โดยเครือ ไทย สมายล์ บัส เตรียมเข้าร่วมการรับชำระค่าโดยสาร ด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงต้นปี 2568 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับ กรมการขนส่งทางบก และธนาคารกรุงไทย โดยจะนำร่องในช่วงไตรมาส 1 ปี 68 โดยใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เป็นตัวรับเงินก่อน ซึ่งอาจจะยุ่งยากกว่า ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจ่ายค่าโดยสารโดยตรง ซึ่งในส่วนนั้นอาจจะเป็นระยะต่อไป เนื่องจาก เครื่อง EDC (เครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์) ของบริษัท ยังรอการรับรองจากธนาคารกรุงไทย

นอกจากนี้ TSB ได้วางแผนขยายระบบชำระเงิน (Payment) ด้วยการเปิดรับบัตรเดบิต เครดิต จากสองค่ายใหญ่อย่าง Visa กับ Master Card ให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกมากขึ้น รวมถึงการเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มเติมผ่านระบบ China T-Union รองรับบริการแก่นักท่องเที่ยวจีน ชำระค่าโดยสารอัตรา (Flat Rate) เพียง 25 บาทต่อเที่ยว รวมค่าทางด่วน ค่าจอดรับ-ส่งสนามบิน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top