เกษตรกรไทยถึงเวลาต้องปรับตัว รับเทรนด์โลก-สิ่งแวดล้อม-นวัตกรรมใหม่

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวเสวนาในหัวข้อ “ปรับเกษตรไทยรับเทรนด์โลก ก้าวกระโดดสู่อนาคต” ว่า Next Trend ที่อาจส่งผลต่อสินค้าเกษตรของไทย คือ

  1. การจัดการเชิงพื้นที่ อาจมีผลกระทบต่อเกษตรกรและผลผลิต จากภาพราคาที่ดินมีโอกาสลดลงจากสภาพความร้อนที่ทวีคูณ

  2. มาตรการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนจากตลาดต่างประเทศ จะกดดันสินค้าเกษตรไทยต่อเนื่อง

  3. เกษตรกรอาจต้องปรับตัวตามมาตรการตลาดปลายทาง แต่ราคา และการยอมรับอาจดีกว่าที่คาด เช่น EUDR (กฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าที่มาจากพื้นที่ทำลายป่า)

  4. ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย แต่ต้องพัฒนาคุณภาพให้ดีทดแทน

  5. สินค้าเกษตรไทยเป็นสินค้าต้นน้ำ อาจถูก Trace back จากกระบวนการของภาคอุตสาหกรรมในเรื่องของความยั่งยืน เช่น สินค้าไม่บุกรุกทำลายป่า ไม่จับสัตว์น้ำนอกฤดูกาล เป็นต้น

  6. สินค้าเกษตรคุณภาพต่ำจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด กระทบเกษตรกรโดยตรง รัฐต้องกำหนดกลยุทธ์รับมือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และเกษตรพื้นที่

นายชัยชาญ กล่าวว่า เกษตรกรไทยจึงควรมีการปรับตัว โดยต้องแสวงหาความรู้ความเข้าใจ และเข้าถึงทางเครื่องมือ นวัตกรรม และหลักการทางวิทยาศาสตร์ และเน้นการพัฒนาในลักษณะของการรวมกลุ่มสหกรณ์ ชุมชน ไม่โดดเดี่ยว

ทั้งนี้ ต้องอาศัยนวัตกรรมและการปรับตัว โดยในส่วนของภาครัฐ ต้องเข้ามาช่วยเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์ ประเทศไทยขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เช่น สินค้ามันสำปะหลัง ที่ต้องการพัฒนาพันธุ์ให้ทนต่อความต้องการของโลก และโรค และเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยภาควิชาการ มหาวิทยาลัย เกษตรจังหวัดในแต่ละพื้นที่ ต้องมีบทบาทในการเข้ามาช่วยให้มากขึ้น เพราะจะเข้าใจสภาพพื้นที่เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีภาคเกษตรในทุกมิติ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต อาทิ พัฒนาเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศที่แม่นยำ และระบบบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพาะปลูกอัจฉริยะ เมื่ออากาศร้อนหรือมีโอกาสน้ำท่วม

อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องอาศัยกลไกความช่วยเหลือ ดังนี้

  1. รัฐต้องสร้างองค์ความรู้ ฝึกอบรมทักษะต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีการปรับตัว และรู้เท่าทันสถานการณ์ของโลกที่ผันผวน

  2. มาตรการเยียวยาเมื่อมีกรณีเหตุฉุกเฉินที่ส่งผลกระทบกับกลุ่มเกษตรกรต้องชัดเจน เร็ว มีประสิทธิภาพ

  3. กำหนดแผนรองรับการประกันความเสี่ยงราคาพืชผลต่ำที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ว่าควรจะเป็นอย่างไร

  4. พัฒนาแหล่งน้ำสำรอง การกักเก็บน้ำสำหรับเกษตรตลอดทั้งปี

  5. หาตลาดรองรับสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“มองเห็นปัญหาของภาคเกษตร คือเราควรปิดช่องว่างระหว่างผู้ผลิต และอุตสาหกรรม รวมทั้งต้องปรับปรุงกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นให้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงควรดึงประสบการณ์ของเกษตรกรสูงอายุที่มีความรู้ ประสบการณ์ มาผสานกับความคิด และทักษะในการทำการตลาดของคนรุ่นใหม่” นายชัยชาญ กล่าว

 

นางจงรักษ์ ฐินะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมและเผยแพร่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสวนาในหัวข้อ “ปรับเกษตรไทยรับเทรนด์โลก ก้าวกระโดดสู่อนาคต” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภาวะโลกร้อน จะส่งผลกระทบต่อการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ดังนี้ 1. ผลผลิตทางการเกษตรลดลง 2. โรคและศัตรูพืชมากขึ้น ทำให้ต้องใช้สารเคมีมากขึ้น 3. คุณภาพการเจริญเติบโตของพืชไม่สมบูรณ์ 4. ภัยพิบัติ รวมทั้งสภาพอากาศที่สุดขั้ว 5. การเสื่อมโทรมของดิน 6. ขาดแคลนทรัพยากรน้ำ จากแหล่งน้ำจืดลดลง 7. ฤดูกาลเปลี่ยนส่งผลต่อการผลิต และ 8. การขาดแคลนอาหาร จากผลผลิตการเกษตรที่ลดลง ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น

ดังนั้น ควรมีการปรับตัวด้านเกษตรกรและอาหาร จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1. การปรับเปลี่ยนพืชพันธุ์และสัตว์พันธุ์ : การเลือกพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศ โดยการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ หรือวิศวกรรมพันธุกรรม รวมทั้งการปรับระบบการหมุนเวียนพืช ปลูกพืชหลายชนิดสลับกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคแมลง และปรับปรุงคุณภาพดิน

2. การปรับปรุงระบบการผลิต : การปรับปรุงระบบชลประทาน การจัดการดิน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน การเลือกใช้เทคโนโลยี ช่วยตรวจสอบสภาพดินและพืช การใช้โดรนในการฉีดพ่นยาปราบศัตรูพืช และการใช้ระบบข้อมูลภูมิศาสตร์ในการวางแผนการผลิต

3. การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต : การเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง เพื่อรักษาคุณภาพดินและสิ่งแวดล้อม และเกษตรทฤษฎีใหม่ ปรับปรุงระบบนิเวศในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเพิ่มผลผลิตและความยั่งยืน

4. การบริหารจัดการความรู้และข้อมูล : การสนับสนุนทางการเงิน โดยให้เงินอุดหนุน การประกันภัย และสินเชื่อแก่เกษตรกร การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างระบบเตือนภัย และที่สำคัญคือการวางแผนการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และความต้องการของชุมชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top