GDP ภาคเกษตรปี 67 หดตัว 1.1%ก่อนพลิกโต 1.8-2.8% แนะสภาพัฒน์ปรับสัดส่วนดัน GDP เกษตรสูงขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2567 หดตัว 1.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัวได้ ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.8 – 2.8%

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Unbox & Unlock Thai Agriculture : ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัย คือโอกาส” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ทางการเกษตรรวม 147.73 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 46.7% ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรกว่า 30 ล้านคน เป็นแรงงานเกษตร 19.72 ล้านคน และมีจำนวนครัวเรือนเกษตรประมาณ 7.9 ล้านครัวเรือน

โดยในปี 66 GDP ภาคเกษตร มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.58% ของ GDP รวมของประเทศ ลดลงจาก 10 ปีที่แล้ว ซึ่ง GDP ภาคเกษตรมีสัดส่วนอยู่ที่ 11.32% แม้ว่าสัดส่วนของภาคเกษตรจะลดลง แต่มูลค่า GDP ภาคเกษตรยังคงเพิ่มขึ้นจาก 660,365 ล้านบาท ในปี 56 เป็น 693,834 ล้านบาท ในปี 66

“อยากให้สภาพัฒน์เสนอผลของ GDP เกษตรใหม่ จากที่ตอนนี้ GDP ภาคเกษตร คิดเป็นประมาณแค่ 8% เท่านั้น ควรเป็น 25-30% ต่อ GDP เนื่องจากมองว่า GDP เกษตรตอนนี้ยังไม่สะท้อนมูลค่าของภาคการเกษตรทั้งหมด ถ้านับเฉพาะภาคเกษตรมูลค่ามีไม่มาก เพราะส่วนใหญ่ผลผลิตและมูลค่า จะไปปรากฏในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ดังนั้น จึงควรปรับสัดส่วน GDP ใหม่ เพื่อทำให้คนทั่วไปเข้าใจ และให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมภาคเกษตรได้งบจำนวนมาก แต่มูลค่าที่ออกมากลับน้อย” นางนฤมล กล่าว

พร้อมระบุว่า ภาคเกษตรไทย ยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้น การเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของสหรัฐอเมริกา อาจทำให้สงครามทางการค้ากลับมามีความรุนแรงอีกครั้ง ขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย ยังเผชิญกับปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนกฎกติกาด้านการค้า และการลงทุนของโลก รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

สำหรับแนวทางการปลดล็อกและพัฒนาภาคเกษตร จะต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทาง ดังนี้

1. การรับมือกับภัยธรรมชาติ มีการวางแผน และดำเนินมาตรการเชิงรุก ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การป้องกัน แก้ไขปัญหา และฟื้นฟู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

2. การประกันภัยสินค้าเกษตร โดยการส่งเสริมการประกันภัยพืชผล เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยง ที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน

3. การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และต่อยอดสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง

4. การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางของ BCG โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น EUDR CBAM และ Carbon Credit การแก้ปัญหา PM 2.5 ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ และส่งเสริมการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน

5. การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง การสร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอ โดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

6. การพัฒนาเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรในระดับโลก โดยอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้วิเคราะห์ เตือนภัย และเฝ้าระวังปัจจัยที่ส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายต่อการทำการเกษตร

7. การปรับปรุงกฎระเบียบหรือกฎหมาย โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการศึกษากฎระเบียบและกฎหมายของประเทศคู่ค้า ที่จะมีผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย เพื่อการปรับตัวและเตรียมการให้ทันต่อสถานการณ์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top