ทิสโก้ ให้เป้า GDP ไทยปี 68 โต 3% เก็ง กนง.หั่นดอก 0.25% จับตานโยบาย “ทรัมป์”-หนี้ครัวเรือนสูง

นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในปี 68 คาดขยายตัวที่ระดับ 3% ยังไม่รวมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายขึ้นภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยช่วงครึ่งปีแรกปี 68 คาดว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี แต่ช่วงครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงที่อาจเห็นการชะลอตัวลงบ้าง ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 67 คาดขยายตัว 2.8%

เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมีความสมดุลมากขึ้น อาทิ การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาทรอบใหม่ที่น่าจะช่วยพยุงการบริโภคภายในประเทศ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการ ท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องสู่ระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโรคระบาด (Pre-covid Level) แม้จะชะลอตัวลงจากปีนี้ก็ตาม

ขณะที่นโยบายการเงินมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเล็กน้อยราว 0.25% ในช่วงไตรมาส 1/68 มาอยู่ที่ 2% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการเงินในประเทศที่มีความตึงตัวขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกประเทศ อีกทั้งคาดว่า ธปท.จะมุ่งเน้นการใช้นโยบายการเงินแบบตรงจุด (Targeted Policy) พร้อมกับการรักษาพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต (Policy Space) ด้วยท่าที่ที่เป็นกลางต่อไป

ในด้านปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยให้น้ำหนักที่สงครามการค้ารอบใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศที่ทรงตัวในระดับสูงมายาวนาน รวมถึงคุณภาพของสินเชื่อที่ด้อยลงต่อเนื่อง ดังนั้น ต้องจับตาการแปลงสภาพของสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) สู่การเป็นหนี้เสีย (NPL) โดยเฉพาะสินเชื่อหมวดยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง-ล่าง เพราะอาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ขณะที่ประเด็นเรื่องการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยความท้าทายที่ต้องจับตา เพราะอาจกระทบกับเศรษฐกิจไทยราว 0.3-1.1% ของประมาณการ GDP ตลอดช่วงที่นายทรัมป์ดำรงตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นที่ระดับ 60% ตามที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่ รวมถึงอัตราภาษีดังกล่าวจะถูกขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่น ๆ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา

ขณะที่ประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะแนวคิดการปรับขึ้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งปัจจุบันเก็บที่ 7% แต่ที่ผ่านมาการจัดเก็บ VAT ได้น้อย เพราะเศรษฐกิจนอกระบบไทยมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้หากมีการปรับขึ้น VAT จะกระทบกับคนรายได้น้อย ดังนั้น การแก้ปัญหาประเด็นดังกล่าวและจะดึงคนกลับเข้ามาอยู่ในระบบภาษีได้ คือการใช้ VAT Refund คนที่รายได้น้อยสามารถยื่นแสดงรายได้เพื่อขอคืนภาษี VAT ขณะที่หากมีการปรับขึ้น VAT 10% ประเมินว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท และอยากเห็นรัฐบาลกระจายเงินลงทุนไปสู่เมืองรอง ต่างจังหวัด ทำให้การศึกษาทั่วประเทศเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาวยกระดับขึ้นมาได้

สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 68 มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงที่จะโน้มไปทางด้านต่ำ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ระดับ 3.2% โดยมีปัจจัยบวกมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด (Exceptionalism) อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ สถานการณ์สงครามที่ยังไม่คลี่คลายทั้งในตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะสร้างความไม่แน่นอนแก่ราคาพลังงานและเงินเฟ้อ รวมถึงทิศทางของนโยบายการเงินโลก นอกจากนี้ ในหลายประเทศที่รัฐบาลมีภาระหนี้สินในระดับสูง อาจหันมาลดการขาดดุลงบประมาณลง ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินได้

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced Economy) ส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงจากประมาณการเดิม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) ที่มีแนวโน้มชะลอลงจากหลายปัจจัย อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อผลผลิต และความขัดแย้งภายในประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ดี อุปสงค์ต่อสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวตามกระแสการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) จะหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย (Emerging and Developing Asia) ขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการผลิตและการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง

ทั้งนี้ ทิศทางดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดว่าปีหน้าอาจเห็นการปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ต่างจาก Dot Plot ที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง เนื่องจากความเสี่ยงของนโยบายทรัมป์ที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามจากแนวโมดอกเบี้ยขาลง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐยังเติบโตต่อเนื่อง ขยายตัวในระดับที่ค่อนข้างดี

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจจีนปี 68 คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐอาจพลาดเป้าที่ 5% จากความเสี่ยงวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคในประเทศที่ยังไม่ฟื้น และการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐ ดังนั้นการส่งออกจะฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตามในปี 68 คาดว่ารัฐบาลจีนจะใช้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังควบคู่กับเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญคือการแก้ปัญหาในภาคอสังหาฯ ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาครัฐเข้ามาจัดการหรือดูแลมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top