DELTA-CCET จับมือร่วมยกระดับผลักดันนวัตกรรมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม EMS

นายคงสิทธิ์ โจวกิจเจริญ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (CCET) กล่าวว่า บริษัทได้ร่วมมือกับบมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการใช้ Automated Smart Manufacturing ในทุกกระบวนการผลิต และใช้ระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการ ตามความมุ่งมั่นเพื่อการรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้านการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอีเล็คโทรนิคส์ (Electronics manufacturing Services (EMS))

ขณะที่ DELTA ก็ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในด้านการอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ และโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI ด้วยเหตุนี้ โดยมีความรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมมือกับ DELTA ในการพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยสู่อีกขั้นของความสำเร็จ

นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DELTA กล่าวว่า ความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับแคล-คอมพ์ฯ ผ่าน MOU ฉบับนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการผลิตอัจฉริยะและการพัฒนาตามแนวทางอุตสาหกรรม 4.0+ ในภาคอุตสาหกรรม EMS การผนวกรวมโซลูชันระบบอัตโนมัติ และ AI ที่ทันสมัยของเดลต้าเข้ากับกระบวนการผลิตของแคล-คอมพ์ฯนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิผลในสายการผลิต และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืน

“เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือภายใต้ MOU นี้จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองบริษัทได้ร่วมกันพัฒนา และมุ่งสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นได้” นายวิคเตอร์ กล่าว

จากความร่วมมือที่แน่นแฟ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา MOU ฉบับนี้ได้ยกระดับโครงการความสำเร็จต่าง ๆ ระหว่าง DELTA และCCET ให้เป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์ SCARA เทคโนโลยี DIATwin และโครงการประหยัดพลังงาน ความสำเร็จเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจน ทั้งด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติขั้นสูงอย่าง DIAEAP-IMM

แพลตฟอร์ม CCET 4.0+ (Cell & Cenection & Equipment E-System & Transportation) ของ CCET ซึ่งประกอบด้วยโซลูชัน AI และศูนย์ข้อมูลควบคุมการผลิต ที่ผนวกรวมกับโซลูชัน DIAEAP-IMM ของ DELTA เป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นพัฒนาระบบอัตโนมัติสำหรับงานฉีดพลาสติก แพลตฟอร์มขั้นสูงนี้รวมความสามารถด้าน IoT การติดตามแบบเรียลไทม์ และการวิเคราะห์ด้วย AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดของเสีย และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ การผสานเทคโนโลยีจากทั้งสององค์กรจะช่วยพัฒนาระบบใหม่ที่สามารถควบคุมตัวแปรได้แม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพการไหลตัวของแม่พิมพ์ และลดความผิดพลาดในการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพในการประมวลข้อมูลดิบให้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่พร้อมใช้งาน DIAEAP-IMM จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไร้ตำหนิและรักษามาตรฐานคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม EMS ด้วยการผนวกจุดแข็งด้านระบบอัตโนมัติของ DELTA เข้ากับศักยภาพการผลิตของ CCET ทั้งสององค์กรมุ่งมั่นที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการผลิตที่ชาญฉลาดและยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมและการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ทัดเทียมมาตรฐานและเทรนด์การผลิตระดับโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top