คลัง ยันได้เห็นแน่!! มาตรการกระตุ้นจับจ่ายก่อนสิ้นปี

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนไว้เรียบร้อยแล้ว และจะประกาศความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งมาตรการที่จะออกมานี้ จะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในรูปแบบที่ต้องใช้อิเล็กทรอนิกส์ด้วย ส่วนรายละเอียดอยากให้รอเวลาก่อน

สำหรับความคืบหน้าโครงการโอนเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ให้กับผู้สูงอายุนั้น คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นให้ครบถ้วนก่อน แต่ยืนยันว่ากลไกการดำเนินงานของโครงการนี้ ไม่ได้มีประเด็นใดที่เป็นปัญหา และยืนยันว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการโอนเงินให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ทันภายในเดือน ม.ค.68

“ยืนยันเรื่องกรอบเวลาในการจ่ายเงิน ยังเป็นไปตามกำหนด ดังนั้นต่อให้จะเอาเรื่องนี้เข้า ครม. วันที่ 28 ม.ค.68 แต่กระบวนการเสร็จทัน 29 ม.ค.68 ผมก็ยืนยันว่าผมจ่ายเงินทันกรอบเวลา เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องห่วงว่าเรื่องนี้จะเข้า ครม. วันไหน ส่วนกลุ่มเป้าหมาย และเงื่อนไข ยังเป็นไปตามเดิม ไม่มีเปลี่ยนแปลง” รมช.คลัง กล่าว

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ก. ภาษีส่วนเพิ่ม และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของ Global Minimum Tax คือการเก็บภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทข้ามชาติไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน

โดยเบื้องต้น จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนใหญ่รับทราบว่ากำลังจะต้องเสียภาษีดังกล่าว โดยหากบริษัทข้ามชาตินั้น ๆ ไม่เสียภาษีนิติบุคคล 15% ที่ประเทศไทย ก็ต้องกลับไปเสียภาษีในประเทศบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งอาจจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าระดับที่กำหนด ดังนั้นส่วนใหญ่จึงอยากเสียภาษีที่ไทยมากกว่า โดยกรอบระยะเวลาการดำเนินการจะต้องให้ทันภายในปีนี้ เพื่อให้กฎหมายมีผลในวันที่ 1 ม.ค.68 และจะให้มีผลบังคับใช้ได้ในปี 2569 โดยเบื้องต้นคาดว่ากลไกนี้จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และสร้างรายได้ให้กับรัฐราว 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

“เรื่องนี้ใครเริ่มก่อนได้เปรียบ ซึ่งไทยกำลังเร่งดำเนินการกฎหมายส่วนนี้ ดังนั้นเราจะเป็น 1 ใน 20 กว่าประเทศทั่วโลก ที่จะเริ่มใช้กลไกของกฎหมายนี้อย่างจริงจัง และสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติถามกลับมา คือ หากเขามาเสียภาษีในไทยแล้ว เราจะทำอะไรให้กับเขาบ้าง จึงเป็นที่มาของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ซึ่งกองทุนนี้ จะมีประโยชน์ คือ จะมีการนำเงินบางส่วนจากเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้เข้าไปใส่ไว้ และนำเงินมาสนับสนุนเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการผลิต การสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น ซึ่งกลไกเหล่านี้ จะเติมกลับเข้าไปเพื่อให้เป็นประโยชน์กับการลงทุนของนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศด้วย” นายจุลพันธ์ ระบุ

รมช.คลัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการแก้หนี้ในระบบ ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยคาดว่าจะเปิดให้ลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ได้ลงทะเบียนเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบบันลูกหนี้กลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) นั้น มีเม็ดเงินกว่าล้านล้านบาท หากไม่เร่งเข้าไปช่วยเหลือ ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) และติดอยู่ในเครดิตบูโร ทำให้เสียกลุ่มบุคคลที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างกลไกในการดึงกลุ่มนี้ออกมา และทำให้กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง

ส่วนข้อสังเกตที่ว่าลูกหนี้วินัยดี แต่กลับไม่ได้รับการดูแลนั้น นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีกลไกของระบบสถาบันการเงินที่จะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษให้กับกลุ่มลูกหนี้ที่ชำระดีมีวินัยอยู่แล้ว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะแตกต่างกับกลุ่มหนี้เสีย ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามเรียกร้องในเรื่องการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยบรรเทาภาระของประชาชนมาโดยตลอด โดยเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมั่นใจว่าจะมีการพิจารณาสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนออกมาอย่างแน่นอน

ส่วนก่อนหน้านี้ ที่มีข่าวว่านายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เตรียมดึงทุนสำรองของประเทศมาใช้ปล่อยสินเชื่อ 1 ล้านล้านบาท นั้น นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า หลังจากได้หารือกับนายพิชัยแล้ว ขอยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะเป็นความเข้าใจผิดจากการสื่อสาร

“ปัจจุบัน ระบบธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องราว 3-4 ล้านล้านบาท ขณะที่ ธปท. เองก็มีสภาพคล่องจำนวนมาก ดังนั้นด้วยกลไกที่รัฐบาลมี และกำลังสร้างขึ้น เพื่อเอื้อในการดึงเม็ดเงินสภาพคล่องเหล่านี้ ออกมาหมุนเขียนเข้าระบบเศรษฐกิจ จะช่วยให้คนที่ประกอบอาชีพสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไปทำอะไรกับทุนสำรองของประเทศ ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน” รมช.คลัง กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top