กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 จังหวัด รวม 27 อำเภอ 137 ตำบล 814 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,595 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่
1.จังหวัดชุมพร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ปะทิว อ.เมืองฯ อ.สวี อ.ทุ่งตะโก อ.หลังสวน และอ.ละแม
2.จังหวัดระนอง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.กระบุรี อ.ละอุ่น และอ.เมืองฯ รวม 12 ตำบล 42 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,070 ครัวเรือน ปัจจุบันคลองญวนระดับน้ำลดลง
3.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าชนะ อ.ท่าฉาง อ.เมืองฯ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก
อ.เกาะพงัน และอ.เกาะสมุย รวม 27 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,216 ครัวเรือน ปัจจุบันแม่น้ำตาปีมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น
4.จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เมืองฯ อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ อ.พระพรหม อ.สิชล อ.นบพิตำ อ.ท่าศาลา อ.ขนอม และอ.ช้างกลาง รวม 51 ตำบล 289 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,608 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ปัจจุบันคลองท่าดีระดับน้ำลดลง
นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมหนักในภาคใต้ว่า ภัยธรรมชาติแก้ปัญหายาก เพราะโลกเปลี่ยน จึงต้องช่วยกันแก้ปัญหา ส่วนงบประมาณที่จะนำไปใช้เยียวยาได้เตรียมไว้แล้ว และยังมีงบกลางสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย ขณะนี้ทุกฝ่ายได้เตรียมพร้อมแล้ว หลังจากประกาศเตือนสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 16-22 ธ.ค. 67 ว่าเป็นช่วงฝนตกหนัก
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รอบแรกน้ำลดลง และเตรียมถอนกำลัง แต่เมื่อทราบถึงฝนระลอก 2 จึงสั่งตรึงกำลังในพื้นที่ไว้ โดยสั่งการให้ทหารช่างไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และระนอง ไปตรวจสอบพื้นที่ว่า ต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง โดยดูตัวอย่างจากภาคเหนือมาปรับใช้
ส่วนทหารพัฒนา ยังดำเนินการอยู่ในพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมาได้รับรายงานว่า ไม่ต้องกังวล เพราะเครื่องมือหนัก และทหารจากภาคเหนือได้มาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ดูแลระมัดระวังตั้งแต่ต้น รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ก็ได้เตรียมการไว้ก่อนแล้ว
นายภูมิธรรม กล่าวว่า น้ำมาแรงเพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ถือเป็นภัยคุกคามใหม่ที่ต้องนำมาพิจารณา เวลาพูดถึงภัยคุกคามไม่ใช่แค่ภายนอกประเทศ หรือยาเสพติด แต่ต้องมองทุกมิติ ซึ่งน้ำท่วมภาคใต้เป็นปัญหาที่เตรียมการไว้แล้ว และเชื่อว่าความเสียหายอาจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 67)
Tags: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, น้ำท่วม, น้ำท่วมภาคใต้, ภูมิธรรม เวชชัย, อุทกภัย