นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 68 นโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐจะออกมา 3 มาตรการหลัก ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในช่วงครึ่งปีแรกได้ 160,000-180,000 ล้านบาท ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก กระตุ้น GDP ได้อย่างน้อย 1.5% อย่างไรก็ดี เป็นการประเมินโดยยังไม่ได้รวมสถานการณ์อื่น ๆ โดยเฉพาะสงครามการค้า
สำหรับ 3 มาตรการของรัฐ ได้แก่
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 40,000 ล้านบาท
2. มาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” พักดอกเบี้ย ลดการชำระเงินต้น ซึ่งจะมีการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 67-28 ก.พ. 68 ซึ่งน่าจะเริ่มมีผลในปลายไตรมาส 1/68 โดยหอการค้าคาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนทั้งปีอย่างน้อย 80,000-100,000 ล้านบาท ที่ประชาชนจะประหยัดไปได้ และธนาคารเองก็จะสามารถปล่อยเงินกู้ได้ต่อ
โดยมาตรการดังกล่าวต่อผู้กู้ที่เป็น NPL ในส่วนนี้ประชาชนจะได้รับประโยชน์ทางตรง ประหยัดค่าดอกเบี้ย ลดการส่งเงินต้น ซึ่งจะทำให้ผู้กู้จำนวน 1.9 ล้านราย วงเงินประมาณ 9 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้คงค้างหมดเร็ว และภายใต้เงื่อนไขไม่ก่อหนี้ใหม่ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนลดลงไปอย่างน้อยหลายแสนล้านบาท ซึ่งทำให้ผลต่อผู้กู้ได้ประหยัดเงิน สามารถนำเงินส่วนหนึ่งมาเสริมสภาพคล่องในธุรกิจ และนำมาจับจ่ายใช้สอย
ในส่วนของระบบธนาคารพาณิชย์ หลังจากที่ได้สำรองหนี้สูญไปแล้ว เพราะ NPL เกิน 6 เดือน จะตีกลับมาเป็นการรับรู้รายได้ถ้าเป็นการบันทึกบัญชีปกติ และเงื่อนไขในการอยู่ในโมเดล TFRS 9 ในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การดำรงสินทรัพย์ ป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ น่าจะทำได้ดีขึ้น และน่าจะมีเม็ดเงินเหลือในส่วนของการปล่อยเงินกู้สินเชื่อใหม่ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นในกรอบที่เหมาะสม และธนาคารมั่นใจว่าธุรกิจน่าจะทำกำไรได้จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น การปล่อยสินเชื่อน่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวใกล้เคียงระดับปกติมากขึ้น ซึ่งจะดีต่อระบบเศรษฐกิจ ในส่วนของผู้กู้ที่เป็น NPL และผ่อนชำระไปตามเกณฑ์น่าจะได้ยกเว้นดอกเบี้ย 3 ปี น่าจะทำให้เข้าสู่เครดิตบูโรในเชิงของการเป็นลูกหนี้ปกติได้ดีขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อใหม่เมื่อครบกำหนด 3 ปี ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้กู้ และระบบธนาคาร
สำหรับระบบเศรษฐกิจ เชื่อว่าเมื่อผู้กู้คล่องตัวขึ้น น่าจะมีการประคองธุรกิจไม่ให้ล้มละลาย รักษาการจ้างงานไว้ได้ ซื้อวัตถุดิบเป็นปกติ ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ และรถ น่าจะคลายตัว เพราะไม่ต้องยึดรถ บ้าน และขายทอดตลาด ซึ่งจะไม่ทำให้ราคาสินทรัพย์ย่อลง
ดังนั้น เมื่อธนาคารกลับมาทำงานได้เป็นปกติ และปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ระบบเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น และเมื่อ GDP ดีขึ้น และหนี้คงค้าง หรือหนี้ครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาร่วมกับหลายหน่วยงาน จะทำให้หนี้ต่อ GDP จากระดับ 89.6% ลดลงได้ในปีหน้ามาอยู่ที่ระดับ 87% ได้
“ประเมินเบื้องต้น วงเงินที่ใช้ในโครงการ คือธนาคารพาณิชย์ ลดการนำส่ง FIDF ไปประมาณ 39,000 ล้านบาท ส่วนต้นทุนธนาคารรัฐ ใช้มาตรา 28 อีกประมาณ 39,000 ล้านบาท เช่นกัน ดังนั้น ต้นทุนของภาครัฐจะอยู่ที่ประมาณ 72,000 ล้านบาท โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะได้ประโยชน์จากการประหยัดดอกเบี้ย และประหยัดเงินต้นอย่างน้อย 80,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะกระตุกเศรษฐกิจได้เพิ่มเติมถ้าคนเอาเงินมาใช้ 0.5-0.7% ของ GDP แต่ปีหน้ายังคงคาดการณ์ว่า GDP จะโตประมาณ 3% เพราะนโยบายจากทรัมป์ที่จะทำสงครามทางการค้าขึ้นภาษี 10% จะทำให้เงินหายจากระบบไปประมาณ 160,000 ล้านบาท” นายธนวรรธน์ กล่าว
3. มาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท คาดว่าเงินจะหมุนเข้าระบบประมาณ 40,000 ล้านบาท
ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการการพักหนี้สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ มองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการต่อเนื่อง คือมาตรการสินเชื่อ เนื่องจากการพักหนี้อย่างเดียวโดยที่ไม่มีมาตรการอื่นเสริม สิ่งที่จะเกิดคือถ้าลูกหนี้คนนั้นสายป่านตึงแล้ว จะไม่สามารถขยับได้ ดังนั้น การพักหนี้จะเป็นการหยุดหนี้เฉย ๆ แต่กิจการไม่สามารถเดินหน้าต่อได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 67)
Tags: GDP, ธนวรรธน์ พลวิชัย, หอการค้าไทย, เศรษฐกิจไทย