ศาลล้มละลายกลางนัด 21 ม.ค.ฟังคำสั่งแก้ไขแผนฟื้นฟู THAI หลัง 8 เจ้าหนี้ยื่นค้าน

ศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่งการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการบมจ.การบินไทย (THAI) ในวันที่ 21 ม.ค.68 หลังจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นรายงานเกี่ยวกับผลการประชุมเจ้าหนี้การบินไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบการแก้ไขแผน ทั้ง 3 ข้อ

ขณะที่มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้านผลการประชุมในวันนั้น จำนวน 8 ราย ได้แก่ สหกรณ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สหกรณ์ออมทรัพย์ สาธารณสุข สุราษฎร์ธานี  สหกรณ์ออมทรัพย์ องค์การเภสัชกรรม  สหกรณ์ ออมทรัพย์กรมป่าไม้  ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง (เจ้าหนี้หุ้นกู้) ส่วนธนาคารกรุงเทพ ขอเป็นยื่นคำแถลง ไม่ได้ยื่นคัดค้าน

วันนี้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ได้รับคำคัดค้านจากเจ้าหนี้ ดังนั้น ศาลฯ กำหนดให้ยื่นคำชี้แจงคำคัดค้านเกี่ยวกับรายงานการประชุมเจ้าหนี้และแก้ไขแผนฟื้นฟูภายใน 15 วัน และให้ฝ่ายผู้บริหารแผนยื่นคำชี้แจงมาภายใน 30 วันนับจากวันนี้ พร้อมเปิดให้ยื่นคำคัดค้านเพิ่มเติมใน 15 วัน

นายประชา คุณธรรมดี กรรมการเจ้าหนี้ ระบุว่า ประเด็นที่ยื่นคัดค้านของเจ้าหนี้เป็นเรื่องกระบวนการโหวตในที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา เพราะเจ้าหนี้บางส่วนเห็นว่ากระทรวงการคลังไม่น่าจะมีสิทธิโหวต เพราะวันที่คณะผู้บริหารแผนมีมติให้แปลงหนี้เป็นทุนเมื่อ 25 พ.ย.67 เป็นวันสิ้นสุดที่กระทรวงการคลังมีสถานะเป็นเจ้าหนี้แล้ว

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI กล่าวว่า แม้ว่าศาลฯ ยังไม่เห็นชอบการแก้ไขแผนฟื้นฟู แต่ความเสียหายในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเกิดขึ้นแล้ว เพราะทำให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นเกิดความลังเลในการเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ THAI ที่เปิดขายช่วงวันที่ 6-12 ธ.ค.นี้ เพราะไม่รู้ว่าการแก้ไขแผนประเด็นลดพาร์ล้างขาดทุนสะสมเพื่อให้จ่ายเงินปันผลได้นั้นจะทำได้หรือไม่ได้ ดังนั้นนักลงทุนก็ต้องตัดสินใจ ซึ่งก็ยอมรับว่าจะมีผลต่อการขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท

“ตอนนี้ แก้ไม่แก้ (แผนฟื้นฟู) มีผลต่อการขายหุ้นเพิ่มทุนเท่าๆ กัน เพราะมันเลยจุดที่ขายหุ้นไปแล้ว…เดิมคิดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย”นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ประธานคณะผู้บริหารแผนฯ กล่าวว่า การขอแก้ไขแผนเพื่อลดพาร์ก็เพื่อให้แน่ใจว่าการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในช่วง 6-12 ธ.ค.จะประสบความสำเร็จ โดยคาดว่าศาลฯ จะมีคำสั่งเห็นชอบภายในเดือน พ.ย. แต่เมื่อเหตุการณ์การแก้ไขแผนฟื้นฟูต้องเลื่อนออกไปหลัง 12 ธ.ค. ก็ทำให้ความจำเป็นในการแก้ไขแผนน้อยลง

ทั้งนี้ หากวันที่ 21 ม.ค. 68 ศาลฯชี้ว่าการประชุมเจ้าหนี้เมื่อ 29 พ.ย.67 ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะส่งผลให้มติเป็นโมฆะ แต่หากชี้ว่าเห็นชอบการประชุมเจ้าหนี้ก็เดินตามขั้นตอนต่อไป หรือศาลฯอาจจะชี้ไม่เห็นชอบในแต่ละวาระ จากทั้งหมด 3 วาระ

โดยคำคัดค้านของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ต้องชี้แจง และหากต้องการก็สามารถขอหมายศาลเรียกข้อมูลจากบริษัท ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นฝ่ายกำหนดวันประชุมเจ้าหนี้

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า สำหรับการจดทะเบียนทุนใหม่หลังการแปลงหนี้เป็นทุน บริษัทได้แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. หลังมีมติการแปลงหนี้เป็นทุนของคณะผู้บริหารแผนในวันที่ 25 พ.ย. แต่กระทรวงพาณิชย์กลับดำเนินการล่าข้า ทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 2 ล้านบาท

“การบินไทยบอกไปแล้วว่าการแปลงหนี้เป็นทุนได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ผู้บริหารแผนมีมติเมื่อ 25 พ.ย. ถ้าศาลบอกว่าที่เราบอก 25 พ.ย.ถูกต้องแล้ว ความเสียหายก็ไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ต้องยื่นฟ้องกระทรวงพาณิชย์”

ทั้งนี้ บริษัทคงไม่ได้เป็นผู้ยื่นฟ้อง แต่เห็นว่าน่าจะเป็นผู้ถือหุ้นที่เป็นคนเสียหายโดยตรง ซึ่งผู้ถือหุ้นก่อนเข้าแผนฟื้นฟูมีถึงแสนราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top