ทริสฯ ชี้ธุรกิจ บล. ยังเผชิญการแข่งขันรุนแรง แต่แนวโน้มฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามศก.-ความเชื่อมั่น-จำนวน IPO

ทริสเรทติ้ง ระบุว่า ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยเผชิญสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ในอุตสาหกรรม ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องปรับกลยุทธ์โดยการเพิ่มช่องทางและขยายขอบเขตการให้บริการ เพื่อกระจายแหล่งรายได้สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า รายได้และกำไรของกลุ่มหลักทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ฟื้นตัว เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนอาจเกิดจากสภาพเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง มองว่าในหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยเผชิญสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากถึง 51 บริษัท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567) ทั้งบริษัทหลักทรัพย์ไทยและบริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติ ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดและการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องหลายปี มีแนวโน้มถูกควบรวมกิจการมากขึ้นในอนาคต

กลยุทธ์หลักที่บริษัทหลักทรัพย์นำมาใช้ ได้แก่ การเพิ่มช่องทางการให้บริการที่เป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น และยกระดับการให้บริการและการขยายขอบเขตการให้บริการ เช่น การเสนอบริการด้านที่ปรึกษาการลงทุน (Portfolio Advisory) โดยมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละกลุ่มและครอบคลุมมากขึ้น ไม่จำกัดเพียงการแนะนำหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารทุนหรือหุ้นรายตัวเท่านั้น

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ยังให้ความสำคัญกับการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ เพื่อลดการพึ่งพิงรายได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหุ้น เช่น การให้บริการกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Loan) และการเป็นตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน (Selling Agent) รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant), ตราสารแสดงสิทธิในการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depository Receipt) และ และตราสารที่มีโครงสร้างซับซ้อน (Structured Note) เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การลงทุนมีลักษณะความเป็นสากลและหลากหลายมากขึ้น

ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์: การแข่งขันด้านราคารุนแรงต่อเนื่อง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยจะยังคงรุนแรงต่อเนื่อง สะท้อนผ่านการลดลงของอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ย (ไม่รวมบัญชีบริษัทหลักทรัพย์) จากระดับ 0.15% ในปี 2555 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมมาอยู่ที่ระดับ 0.07% ในปี 2566

การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของอัตราค่าธรรมเนียมนี้เป็นผลมาจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อยที่หันมาส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศยังเพิ่มการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบ Direct Market Access (DMA) ซึ่งเป็นการส่งคำสั่งซื้อขายโดยตรงเข้าสู่ระบบตลาดหลักทรัพย์ ผ่านผู้ให้บริการการส่งคำสั่งแบบ DMA โดยไม่ผ่านตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แบบดั้งเดิม ส่งผลให้อัตราค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน: มีแนวโน้มเติบโตในระยะกลาง จากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และโอกาสการลงทุนที่ค่อนข้างจำกัดในประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งจึงขยายการให้บริการเข้าสู่ธุรกิจตัวแทน (Agent) ซื้อขายหน่วยลงทุนที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่มองหาทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการกระจายการลงทุนผ่านหน่วยลงทุนที่เน้นการลงทุนในตลาดต่างประเทศ

ทริสเรทติ้ง มองว่าธุรกิจตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระยะปานกลาง โดยได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่หลากหลาย เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการลงทุน และนโยบายส่งเสริมการออมผ่านกองทุนรวมต่าง ๆ ในรูปแบบของผลประโยชน์ทางภาษี ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (Retirement Mutual Fund – RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund – SSF) และกองทุนรวมส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) จากภาครัฐ

ธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์: คุณภาพสินทรัพย์กดดันการเติบโต เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น การให้บริการกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์จึงกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างรายได้เพิ่มเติม เพื่อลดการพึ่งพิงรายได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหุ้น ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์จึงมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งขยายพอร์ตการให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในธุรกิจนี้เริ่มลดลงตั้งแต่ต้นปี 2566 เห็นได้จากจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของยอดเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์คงค้าง จากระดับ 1.13 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 มาอยู่ที่ระดับ 7.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 การลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนของนักลงทุนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจ มีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติเงินกู้ เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อมีแนวโน้มอ่อนแอลง

กำไรหดตัวลงจากสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน: ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 กำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ทั้งอุตสาหกรรมรวม 51 บริษัทอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท ลดลง 52.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง สอดคล้องกับการหดตัวของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในช่วง 9 เดือนแรกของปี ลงมาอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาทต่อวัน ต่ำลงกว่า 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลง

ขณะเดียวกันต้นทุนการดำเนินงานกลับไม่ได้ลดลงในสัดส่วนที่สอดคล้องกัน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 67 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70.7% เทียบกับ 53.9% ในปี 2564 โครงสร้างต้นทุนของธุรกิจหลักทรัพย์กว่า 60% มาจากค่าใช้จ่ายบุคลากร เนื่องจากต้องพึ่งพา ผู้แนะนำการลงทุน นักวิเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลให้การปรับลดต้นทุนในช่วงที่รายได้ลดลงเป็นเรื่อง ท้าทาย และทำให้หลายบริษัทประสบผลขาดทุน การปรับเปลี่ยนช่องทางการให้บริการเป็นแบบออนไลน์ และการทยอยลดจำนวนพนักงาน จึงเป็นกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อพยุงผลประกอบการ

มูลค่าการระดมทุนลดลงสอดคล้องกับสภาวะตลาดทุนที่ซบเซา: รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ลดลงมาอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกปี 67 ลดลง 29.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน สอดคล้องกับสภาวะตลาดทุนที่ซบเซาลง ทำให้บริษัทที่ต้องการระดมทุนในตลาดทุน เลื่อนแผนการระดมทุนออกไป ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการระดมทุมผ่านการเสนอขายหุ้นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณะชน (IPO) ลดลงมาอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำที่สุดในรอบ 13 ปี อย่างไรก็ตาม บริษัทหลักทรัพย์ที่มีชื่อเสียงและทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน IB ยังคงสามารถชดเชยรายได้จาก IPO ที่ลดลงโดยให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินหรือการปรับโครงสร้างธุรกิจ

ค่าใช้จ่ายด้านเครดิตเพิ่มขึ้นจากธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Loan): ในช่วง 9 เดือนแรกปี 67 ผลขาดทุนด้านเครดิตของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท จากระดับ 1.1 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากบริษัทหลักทรัพย์บางแห่งที่ขยายพอร์ต Margin Loan อย่างก้าวกระโดดและขาดความระมัดระวัง เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการที่ลูกหนี้อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่กำหนด อย่างไรก็ตามสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่มีความระมัดระวังโดยมีการคัดเลือกและจำกัดจำนวนหลักทรัพย์ที่ให้กู้ยืม ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นมากนัก

แนวโน้มใน 12 เดือนข้างหน้า: ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปรายได้และกำไรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้และกำไรของบริษัทหลักทรัพย์จะปรับตัว ดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2568 จากปริมาณการซื้อขายที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นด้วยแรงหนุนจากเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของ นักลงทุน เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์ยังคงขึ้นอยู่กับปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของปริมาณการซื้อขายน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก ซึ่งอาจสร้างความผันผวนต่อตลาดทุน

อย่างไรก็ดี รายได้ของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์มีแนวโน้มเติบโตจากการกระจายรายได้ไปสู่รายได้ที่มิใช่ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เช่น การซื้อขายหน่วยลงทุน การให้คำแนะนำการจัดพอร์ตลงทุน รวมทั้งการขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารสามารถเสนอบริการด้านการลงทุน ที่ตอบสนองลูกค้าของธนาคารได้ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันแม้ว่าบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการลดค่าใช้จ่าย โดยการลดหรือจำกัดจำนวนบุคลากร แต่สำหรับบางบริษัทก็อาจมีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มในด้านระบบการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อครอบคลุมความต้องการของนักลงทุน

มูลค่า IPO ปรับตัวดีขึ้น: ทริสเรทติ้งมองว่ามูลค่าการระดมทุนผ่าน IPO ในตลาดทุนในปี 2568 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ใหม่จำนวน 6 บริษัท และมีบริษัทที่ยื่นหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้วจำนวน 10 บริษัท นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่บริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งได้ชะลอการระดมทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อาจกลับมาดำเนินการระดมทุนอีกครั้งหากสภาวะตลาดมีการปรับตัว ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจให้กับบริษัทหลักทรัพย์

Margin Loan มีแนวโน้มลดลง: ทริสเรทติ้งคาดว่า Margin Loan จะหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2567 จากการยุติการให้บริการธุรกิจให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของผู้ประกอบการรายใหญ่รายหนึ่งเนื่องจากปัญหาหนี้เสีย อย่างไรก็ตามคาดว่าธุรกิจนี้โดยรวมจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2568 เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระมัดระวังใน การปล่อยกู้มากขึ้นโดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงของราคาอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors)

ธุรกิจกลุ่มหลักทรัพย์เผชิญความเสี่ยงหลัก ได้แก่ ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk): ความเสี่ยงด้านตลาดเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์ที่บริษัทถือครองไว้ ซึ่งโดยลักษณะธุรกิจของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์มักมีพอร์ตการลงทุนขนาดค่อนข้างใหญ่เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ เช่น การซื้อขายเพื่อเก็งกำไร การถือครองเพื่อบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้รายได้หลักของกลุ่มหลักทรัพย์ กว่า 30% ของรายได้รวมในช่วง 9M67 มาจากค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเคลื่อนไหวของตลาดทุน ความเสี่ยงด้านตลาดจึงส่งผลกระทบโดยตรงและ มีนัยสำคัญต่อกำไรและสถานะทางการเงินของบริษัท

ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk): ในสภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย บริษัทหลักทรัพย์อาจเผชิญความเสี่ยงจากการที่ลูกค้าบัญชีเงินสด และลูกค้าบัญชีเครดิตบาลานซ์ ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงดังกล่าวสามารถลดทอนได้ในระดับหนึ่งด้วยการใช้หลักทรัพย์ในบัญชีเป็นหลักประกัน และการกำหนดวงเงินการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า

ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risk): แม้ว่าการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ธุรกิจหลักทรัพย์ยังต้องพึ่งพาบุคลากรในการให้คำแนะนำด้านการลงทุน ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความผิดพลาดจากการทำงานได้ง่าย เช่น การแนะนำ การลงทุนที่ไม่เหมาะสม และการปฏิบัติงานที่ ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ

ทั้งนี้ ความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของบุคลากรในบางกรณีอาจนำไปสู่การละเมิดกฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องเสียค่าปรับ ถูกยกเลิกใบอนุญาต หรือการถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ซึ่งอาจกระทบต่อฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ความเสียหายต่อชื่อเสียงที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าวยังอาจทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย (Regulatory Risk): ธุรกิจหลักทรัพย์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทในการออกและปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความโปร่งใสและเสถียรภาพในตลาดทุน

การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องเผชิญภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการปรับปรุงระบบงาน การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และการฝึกอบรมบุคลากร หากบริษัทไม่สามารถปรับตัวได้ทันเวลา อาจนำไปสู่การถูกปรับ การจำกัดขอบเขตการดำเนินงาน หรือแม้กระทั่งการถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งส่งผลเสียต่อฐานะทางการเงินและความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top