ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ได้หยิบยกข้อเรียกร้องของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ขอให้บอร์ด กสทช.ทบทวนมาตรการเฉพาะที่ใช้กำกับดูแลการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC เนื่องจากเห็นว่าเป็นมาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดเกินไป ไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด จึงขอให้บอร์ดทบทวนกำหนดระยะเวลามาตรการ อย่างไรก็ดี ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในครั้งนี้และให้นำไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
มาตรการเฉพาะในการควบรวมกิจการ แบ่งเป็นมาตรการที่ TRUE ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน คือ การกำหนดราคาค่าบริการโดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing) ให้สำนักงาน กสทช. มีหน้าที่จัดหาที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ความเชียวชาญด้านการสอบทานโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ หรือข้อมูล ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อทำการสอบทานโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตรา ค่าบริการ พร้อมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (Average Cost) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (Marginal Cost) ภายใน 1 เดือนหลังการรวมธุรกิจ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดจากการจัดจ้างที่ปรึกษา ดังกล่าวจะรับผิดชอบโดยผู้ควบรวม
มาตรการต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังการรวมธุรกิจหนึ่งในเงื่อนไขภายใต้มาตรการเฉพาะด้านเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) คือ ผู้ควบรวมต้องทำการเสนอแผนพัฒนานวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมให้แก่สำนักงาน กสทช. ภายใน 60 วันหลังจากได้รับแจ้งเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ พร้อมทั้งให้เริ่มดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี
และมาตรการที่ต้องดำเนินการภายใน 90 วันหลังการรวมธุรกิจ คือ มาตรการกำหนดราคาค่าบริการโดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)ยังได้กำหนดให้ผู้ควบรวมนำส่งข้อมูลรายเดือนให้แก่ กสทช. ทุกๆ 3 เดือน เพื่อใช้ตรวจสอบโครงสร้าง ต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ยและต้นทุนส่วนเพิ่ม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ธ.ค. 67)
Tags: DTAC, TRUE, กสทช., ทรู คอร์ปอเรชั่น