นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศพรรคไทยสร้างไทย กล่าวในงานเสวนาเนื่องในโอกาสวัน รัฐธรรมนูญ ภายใต้หัวข้อ “รัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงไว้จะได้กี่โมง” ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560ว่าหากจะทำให้ประชามติผ่านได้ ต้องทำให้เร็ว สั้นกระชับที่สุด เพื่อให้กติกาทันการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2570 โดยเห็นว่ากระบวนการแก้ไขหากต้องทำประชามติหลายครั้ง จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความล่าช้า แก้ไขได้ยากท้ายที่สุดอาจไม่ทันการเลือกตั้งหรือหากมีความเห็นแย้งการแก้ไขก็จะยุติลงไม่ไปถึงเป้าหมายจนรัฐบาลหมดวาระ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้
พร้อมชี้ให้เห็นว่าวิธีที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามเจตจำนงของพี่น้องประชาชน มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ขจัดกติกาที่เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยได้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับ แต่ต้องดำเนินการแก้ไขตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปโดยเว้นการแก้ไขหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 วิธีการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง แต่เราจะได้รัฐธรรมนูญ ที่มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา ทั้งยังเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน และเป็นไปในทิศทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้
หลักการคือการนำรัฐธรรมนูญปี 60 มาแก้ไขใหม่ ปรับแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปไม่แก้ไขหมวด1หมวด2 โดยจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง 100%เป็นผู้แก้ไขซึ่งการทำประชามติจะทำเพียงหนึ่งครั้ง ซึ่งหัวใจสำคัญคือทุกฝ่ายจะต้องไม่อคติกับเรื่องเพียงเล็กน้อยหรือเรื่องเทคนิคมากจนเกินไป โดยเฉพาะผู้มีอำนาจต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง รักษาคำมั่นที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน หากไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองก็อย่าไปคิดว่าจะซื่อสัตย์ต่อประชาชนได้
นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ มองว่าประเทศไทยยังมีรัฐธรรมนูญที่ไม่ดี จึงเป็นต้นเหตุของกติกาที่เป็นปัญหา เช่นการเข้าสู่อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัวอย่างเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่มองไปที่ผู้มีอำนาจกลับยังไม่เห็นว่าจะมีผู้ใดที่จะสามารถเข้ามา แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจหรือสร้างความหวังทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยฟื้นกลับมาได้ เหตุผลสำคัญคือรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาทำให้ประเทศขาดโอกาส ปัญหาเช่นนี้ยังอยู่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
รัฐธรรมนูญปี 2560 คือผีร้ายของการรัฐประหาร ผลพวงของการรัฐประหารยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ กติกาที่วางไว้ยังคงอยู่ทำให้การเข้าสู่อำนาจของประชาชนหรือตัวแทนของประชาชนไม่สามารถเข้าสู่อำนาจได้ คนมองสว.ปี2567 ก็เกิดการตั้งคำถามว่าคนเหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร เพราะไม่ได้แตกต่างไปจากสว. ชุดเก่าจะเปลี่ยนแปลงก็เพียงแค่เจ้าของฟาร์ม ซึ่งสะท้อนถึงความสิ้นหวัง มองไม่เห็นว่าประเทศนี้จะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่สามารถทำให้ประชาชนสามารถเลือกผู้นำของตนเองได้อย่างเต็มที่ตามเจตนารมณ์
พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัจจุบัน ผู้คนยังมองไม่ออกว่าจะนำพาประเทศออกจากกับดักของรัฐธรรมนูญได้อย่างไร คนมองไม่ออกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้อย่างไร ดังนั้นทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันส่งเสียง ให้เกิดการตื่นตัวขึ้นในภาคประชาชนจนนำไปสู่ ฉันทานุมัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริง เช่น
การสร้างชุดความคิด ที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะถูกควบคุม ด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งจะเป็นกติกาที่ใช้ควบคุมการเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง รากเหง้าของการรัฐประหารจะปกคลุมประเทศไป อย่างน้อยจนถึงการเลือกตั้งปี 2570 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้ชนะการเลือกตั้งไม่ได้เป็นนายก เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จนถึงนายพิธา ลิ้ม เจริญรัตน์ ดังนั้นจึงขอให้คนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะคนในวัย 20ปีถึง40 ปีซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงอย่าเพิ่งสิ้นหวัง
ด้านนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย มองว่าเวลา 2 ปีครึ่งก่อนการเลือกตั้งปี 2570 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทัน แต่จนถึงวันนี้มีคำถามว่าผู้มีอำนาจไม่กระตือรือร้นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จหรือไม่ เพราะผู้ใช้อำนาจในปัจจุบัน ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่คิดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ตามที่ได้ประกาศหาเสียงกับประชาชนไปก่อนหน้าหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนที่จะช่วยส่งเสียงกดดัน เพื่อให้กติกาได้รับการเปลี่ยนแปลง และขอฝากความหวังไว้ที่พรรคการเมือง ที่มองว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาของประเทศหากไม่เร่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคไทยสร้างไทยก็เป็นอีกฉบับที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ที่ผ่านมามีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 30 เครือข่าย ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้วกว่า 20 ฉบับแต่ไม่ผ่าน กลไกของวุฒิสภา จากนี้คงต้องมีปฏิบัติการไปทวงถาม โดยเฉพาะพรรคการเมือง ที่เคยรับปากอย่างไรไว้กับประชาชน และคงต้องเรียกร้องไปถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่มีอำนาจมากที่สุด รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภา หากมีความจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขได้ทันแต่หากปล่อยปละละเลย ยื้อเวลาโดยไม่ดำเนินการใดๆ ภาคประชาชนก็จะได้เดินหน้ากดดันต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ธ.ค. 67)
Tags: ประชามติ, แก้รัฐธรรมนูญ, โภคิน พลกุล