บอร์ด ก.ล.ต.-ตลท.ร่วมหารือขับเคลื่อนแผนงานปี 68-70 มุ่งสร้างเชื่อมั่น-เพิ่มโอกาสเข้าถึงลงทุนผ่านนวัตกรรมใหม่

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 เกี่ยวกับแผนงานของทั้ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2568-2570 เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้สอดคล้องกันและตอบโจทย์การรักษาความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย การเปิดรับนวัตกรรมใหม่ ๆ การสร้างโอกาสเพื่อส่วนรวมในการเข้าถึงการลงทุนและการระดมทุนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างประโยชน์ต่อผู้ร่วมตลาดและประชาชนในยุคดิจิทัล สอดรับกับกระแสด้านความยั่งยืน รวมถึงเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้แก่ประชาชน

ที่ประชุมได้ข้อสรุปถึงแนวทางการดำเนินการร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้บทบาทส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น การใช้เทคโนโลยีมาตรวจจับการกระทำผิดและเร่งการบังคับใช้กฎหมาย และเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในตลาดทุนแบบดิจิทัล end-to-end 100% ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการในตลาดทุน (Your data) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านความยั่งยืน ผ่านโครงการ Corporate value-up program ที่สร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างมีคุณภาพ และการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศและตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมมือกันให้ความรู้ทางการเงินและเพิ่มจำนวนของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดีในระยะยาวให้กับประชาชน

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568 – 2570 ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์อยู่ภายใต้กรอบและกระบวนการที่พิจารณาครอบคลุมปัจจัยต่าง ๆ ในทุกมิติสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้การกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ควบคู่กับการรักษาสมดุลทั้งด้านการกำกับดูแลและด้านการพัฒนาตลาดทุนไทยในทุกมิติ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายหลัก 4 ด้าน ดังนี้

(1) ตลาดทุนมีความน่าเชื่อถือ (Trust & Confidence)

(2) ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Technology)

(3) ตลาดทุนเป็นกลไกไปสู่ความยั่งยืน (Sustainable Capital Market)

(4) ผู้ลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี (Financial well-being)

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้มีแผนองค์กรซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินงานตามพันธกิจของ ก.ล.ต. (SEC Excellence) เพื่อผลักดันภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้อีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 67)

Tags: , , , , ,
Back to Top