“อนุสรณ์”เตือนหนี้สาธารณะอาจพุ่งสูงเร่งปฏิรูปรายได้รายจ่ายรัฐ แนะวางเป้าไทยเป็นฐานอุตฯ AI รับดิจิทัล

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าการปฏิรูปรายได้ภาครัฐและการปรับโครงสร้างภาษีมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางและระยะยาว แนวทางที่เหมาะสมในการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐจะนำมาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจไทยมีอัตราขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาอย่างต่อเนื่องหลายปี มีความจำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปีและหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมาอยู่เหนือ 60%ต่อจีดีพีตั้งแต่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโควิดปี 2563

หนี้สาธารณะยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมายและยังต้องทำงบประมาณขาดดุลไปเรื่อยๆอีกหลายปีต่อเนื่องกัน คาดการณ์ได้ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะทะลุระดับ 70% ภายในไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าและอาจมีความจำเป็นในการต้องขยับเพดานขึ้นไปอีกถ้าไม่มีทางเลือกอื่นในการหารายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นหรือทำให้เศรษฐกิจโตสูงขึ้น

จากการวิเคราะห์ของธนาคารโลกกรณีแย่ที่สุดไม่มีการปฏิรูปทางการคลังใดๆเลยทั้งด้านรายได้ภาครัฐและรายจ่ายภาครัฐ และไทยต้องเผชิญสังคมชราภาพที่มีค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการบำนาญสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 2037 (ปี พ.ศ.2580) หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะทะลุ 80% ในปี ค.ศ. 2047 ไทยจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุระดับ 110% หากเดินหน้าปฏิรูปภาคการคลังเต็มที่ จะดึงให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกลับมาอยู่ในระดับไม่เกิน 60% ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า แต่อยู่บนสมมติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องเป็นไปตามเป้าหมาย

การสามารถลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลงมาได้ในระดับต่ำกว่า 60% จะทำให้ “ประเทศไทย”มีพื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้นในการเพิ่มการใช้จ่ายหรือลดภาษีในอนาคตเมื่อเจอวิกฤตการณ์ต่างๆ และรัฐบาลจะมีงบประมาณเพียงพอในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศได้ในทันที อย่างไรก็ตามหนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้สกุลเงินบาทหรือหนี้ภายในประเทศ ความต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินบาทของคนในประเทศยังสามารถรองรับการออกพันธบัตรของรัฐบาลได้ หนี้สาธารณะส่วนใหญ่จึงถือครองโดยนักลงทุนไทย โครงสร้างหนี้สาธารณะดังกล่าวทำให้”ไทย” สามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกและการอ่อนตัวอย่างรวดเร็วของค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลางและระยะยาว การเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง การปฏิรูปรายได้ภาครัฐ การปรับโครงสร้างภาษีและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐมีความสำคัญต่อการรักษาความยั่งยืนทางการคลังและเป็นหลักประกันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ มาตรการเข้มงวดทางการคลังสามารถดำเนินการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการฟื้นตัวอย่างอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย

แนวทางการขยายฐานรายได้ภาครัฐมากกว่าการลดการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการลงทุนรัฐบาลควรเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ทั้งการศึกษาและสาธารณสุข การคุ้มครองทางสังคม การขยายฐานรายได้นี้รวมถึงการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยอาจจะค่อยๆปรับเพิ่มขึ้นปีละ 1% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569 จากระดับ 7% เป็น 10% ในปี พ.ศ. 2571 และควรมีปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนรายได้จากภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและอาจพิจารณาปรับลดหรือเพิ่มภาษีเงินได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและกระตุ้นให้ผลิตภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวว่าจากงานวิจัยของธนาคารโลกและมีข้อเสนอทางนโยบายทางการคลังต่อรัฐบาลที่ผ่านมา เสนอว่าให้ปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนทางการคลัง การเพิ่มอัตราการขยายตัวจีดีพีเฉลี่ยให้สูงกว่า 3% จะสามารถรักษาความยั่งยืนในระยะยาวได้ การทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้นต้องอาศัยการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้เป็นเรื่องที่จำเป็น โดยทีมงานของธนาคารโลกเสนอให้ “ไทย”เพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้ได้ 3.5% ของจีดีพี แต่ต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้เวลา 5-6 ปี

การปฏิรูปภาษี ประกอบไปด้วย ข้อแรก การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% และยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด มาตรการนี้จะทำให้รัฐมีรายได้ภาษีเพิ่ม 2.5% ของจีดีพี (อยู่บนสมมติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมาย) ข้อสอง ขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและปรับปรุงค่าลดหย่อน มาตรการนี้จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 0.8% ของจีดีพี ข้อสาม การขยายการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง)

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 14%ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกัน การปฏิรูปและปรับโครงสร้างภาษีตามข้อเสนอของธนาคารโลกจะทำให้สัดส่วนการจัดเก็บรายได้เทียบกับจีดีพีมาอยู่ที่ 24.3% ในปี พ.ศ. 2573 รัฐบาลก็จะมีเงินงบประมาณเพื่อการลงทุนโดยลดการก่อหนี้สาธารณะลงและทำให้ “ไทย” เดินหน้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วในระยะต่อไป

นอกจากการปฏิรูปรายได้ภาครัฐและปรับโครงสร้างภาษีแล้ว รัฐบาลควรปฏิรูปการใช้จ่ายภาครัฐในเชิงโครงสร้าง โดยเพิ่มรายจ่ายภาครัฐต่อจีดีพี จากระดับ 22-24%ของจีดีพี ให้ขึ้นอยู่ที่ระดับ 30% ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD ที่ระดับ 41% การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ลงทุนในทุนมนุษย์ทั้งผ่านระบบการศึกษาวิจัยการพัฒนาทักษะต่อเนื่องและระบบสาธารณสุข

นายอนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวอธิบายต่อว่า การปรับโครงสร้างภาษีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ “การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว” เท่านั้น การปฏิรูปเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นการปฏิรูปรายได้ภาครัฐ ปฏิรูปการใช้จ่ายภาครัฐ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปสถาบันและกฎระเบียบ ปฏิรูประบบการลงทุน ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปการลงทุนทรัพยากรมนุษย์และระบบสวัสดิการสังคม ต้องมาพิจารณาจะลำดับความสำคัญกันอย่างไรอันไหนต้องเร่งทำก่อน อันไหนทำทีหลัง อันไหนสามารถทำพร้อมๆกันได้

หลายเรื่องทำโดยไม่ต้องใช้งบเพียงเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ แก้ไขกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่รัฐบาลต้องมีเม็ดเงินงบประมาณสนับสนุนหากไม่มีรายได้จากภาษีหรือแหล่งรายได้อื่นเพียงพอก็ต้องกู้เงิน แต่เราไม่สามารถกู้เงินเรื่อยๆได้เพราะประเทศจะเสี่ยงต่อปัญหาฐานะทางการคลังเมื่อเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศ ปัญหาผลกระทบทางลบจากความไม่เชื่อมั่นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนโดยภาพรวม

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การถดถอยลงของภาคส่งออกจากการชะลอของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกอันเป็นผลจากสงครามทางการค้าในปีหน้าเป็นปัจจัยท้าทายที่รัฐบาลใหม่ต้องหันมาเอาใจใส่อย่างจริงจังในเรื่องการยกระดับขีดความสามารถของสินค้าไทยและการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมของไทย(Total Factor Productivity of Thailand) นั้นยังมีอัตราการเติบโตต่ำ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพสูงส่วนใหญ่เป็นโรงงานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่มีการใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น งานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการผลิตรวมของไทยขยายตัวต่ำกว่า 1.2-1.3%ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระดับประสิทธิภาพในการผลิต (Productive Efficiency)อยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศที่ใช้แรงงานเป็นหลักและประเทศที่ใช้ทุนเป็นหลักจึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันนี้จะยาวนานมากจนกว่าไทยสามารถพัฒนากิจการที่มูลค่าเพิ่มสูง การผลิตใช้ปัจจัยทุนหรือเทคโนโลยีเข้มข้น พร้อมกับ สามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตัวเอง ปัจจัยประสิทธิภาพการผลิตนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อพื้นฐานความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวซึ่งแตกต่างจากปัจจัยค่าแรง นโยบายสาธารณะ และอำนาจตลาดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและใช้เวลาสั้นกว่ามาก

ภาวะการตกต่ำของภาคส่งออกไทยโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมบางตัวจะเกิดขึ้นอย่างยาวนานหากไม่สามารถปรับปรุงผลิตภาพการผลิตได้จากประสบการณ์ของประเทศที่สามารถก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางได้ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ นั้น ภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาระดับความสามารถทางการผลิตของประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลกการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดความเท่าเทียมจึงต้องเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องทุนโดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ที่มีลักษณะผูกขาด ให้กลาย เป็นทุนที่แข่งขันกันอย่างเสรี เราต้องมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อาศัยนวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มีเพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อาศัยสัมปทานผูกขาดจากภาครัฐ

ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการทางภาษีในการแบ่งปันกำไรส่วนเกินมากระจายให้กับสังคมผ่านระบบสวัสดิการ หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ยากจน การวางยุทธศาสตร์สู่การเป็น”ประเทศพัฒนาแล้ว” เริ่มต้นต้องทำให้ประเทศก้าวพ้น กับดักประเทศรายได้ปานกลางก่อน โดยที่ต้องวางเป้าหมายและประมาณการได้ว่า ต้องมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละปีเท่าไหร่และต้องใช้เวลากี่ปีจึงจะทำให้ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว (12,695-13,205 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) มาตรฐานคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจระดับมาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว เราต้องผลักดันให้มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 5-6% ในระยะ 9-14 ปีข้างหน้าประมาณปี พ.ศ. 2578-2582 ประเทศไทยของเราถึงจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หากทำให้เศรษฐกิจโตได้ปีละ 7-8% ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วเร็วขึ้น การมีนโยบายกระจายเขตเศรษฐกิจพิเศษไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศจะช่วยทำให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจกระจายตัวมากขึ้น

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การตั้งเป้า “ไทย”เป็นฐานอุตสาหกรรม AI นั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการลงทุนบุคลากรทางด้าน AI ระบบการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ อันเป็นพื้นฐานของธุรกิจอุตสาหกรรม AI และ นวัตกรรม การที่ เจนเซน หวง ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท NVIDIA เดินทางมาไทยเข้าพบนายกรัฐมนตรี จัดกิจกรรมร่วมกับเอกชนที่มีศักยภาพเป็นนิมิตรหมายที่ดีคาดว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือต่างๆเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นฐานสำคัญของธุรกิจอุตสาหกรรม AI และนวัตกรรมข้อมูลแห่งอนาคตได้ แต่เราต้องตระหนักบริษัทยักษ์ใหญ่ทางไฮเทคมีทางเลือกมากมายในการลงทุนในอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย และหลายประเทศในอาเซียนก็แข่งขันกันดึงดูดการลงทุนไปยังประเทศตัวเอง ทำไม NVIDIA ตัดสินใจลงทุนศูนย์วิจัย R&D ในประเทศเวียดนาม? จับมือกับ Viettel ของเวียดนาม เพื่อจัดตั้งศูนย์ Cyperspace จับมือ FPT ของเวียดนามเพื่อพัฒนาระบบ Smart Cloud การลงทุนของ NVIDIA ในเวียดนามเป็นโจทย์ที่ “ไทย”ต้องนำไปพิจารณาเพื่อหายุทธศาสตร์และแผนงานหากไทยยังมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของ AI

ปัจจัยสำคัญที่ NVIDIA ลงทุนในเวียดนาม มองว่าเป็นผลจากการที่เวียดนามมีทุนมนุษย์ทางด้าน ICT ที่พร้อมกว่าประเทศไทยมาก มี Start Up และบุคลากรที่เอาจริงเอาจังทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ ความพร้อมของทุนมนุษย์ทางด้านไอซีที กฎระเบียบและอัตราภาษีที่เป็นมาตรฐานสากล ขนาดของตลาดภายในและศักยภาพในการส่งออกบริการ เสถียรภาพทางการเมืองและความคงเส้นคงวาของนโยบาย ระบบราชการโปร่งใสปลอดทุจริตคอร์รัปชันสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่ำอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนในอนาคตอีกต่อไปหลังจากที่ 160 ประเทศได้บรรลุข้อตกลง Global Minimum Tax – GMT 15% ระบบ Global Minimum Tax 15% ทำให้ประเทศรับการลงทุนได้รับประโยชน์รายได้ภาษีจากบรรษัทข้ามชาติมากขึ้น ลดธุรกรรมทำบัญชีโยกย้ายผลกำไรไปยังประเทศภาษีต่ำหรือปลอดภาษี

นอกจากนี้การกำหนด Global Minimum Tax Rate (GMT)ได้ช่วยบรรเทาความรุนแรงในการแข่งขันการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศต่างๆ ทำให้กลยุทธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนบรรษัทข้ามชาติ ต้องมุ่งไปที่มาตรการและความพร้อมทางด้านอื่นๆ เช่น ทักษะแรงงาน ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเมือง กฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานและโปร่งใส ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น นอกจากนี้ ศูนย์ Data Center ของ AI จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำอย่างมหาศาลประเทศไทยจำเป็นเตรียมสาธารณูปโภคสาธารณูปการเหล่านี้ให้พร้อมราคาไม่แพงและไม่ก่อให้เกิดการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าในอนาคต

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า บิทคอยน์ทะลุ 100,000 ดอลลาร์เป็นผลจากการคาดการณ์ในทางบวกที่รัฐบาลทรัมป์จะให้การสนับสนุนและผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้ธุรกิจการเงินดิจิทัล ธุรกิจเงินคริปโตได้เติบโตอย่างเต็มที่ การแต่งตั้งประธาน กลต สหรัฐฯคนใหม่ การแต่งตั้งบุคคลที่มีบทบาทในธุรกิจคริปโตเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในการกำหนดนโยบายทำให้มีการคาดการณ์ทางบวกเพิ่มขึ้นไปอีกว่า ธุรกิจการเงินดิจิทัลและคริปโตจะเฟื่องฟูในยุครัฐบาลทรัมป์ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลต่อระบบการเงินโลก ทิศทางการลงทุนและการเคลื่อนย้ายการลงทุนในตลาดการการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศมีผลต่อระบบการชำระเงินและระบบการเงินการธนาคารและตัวกลางทางการเงินแบบเดิม รวมทั้งบทบาทของธนาคารกลางที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของระบบการเงินดิจิทัล อย่างไรก็ตามการที่ระดับราคาของคริปโตโดยเฉพาะบิทคอยน์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นจึงมีความเสี่ยงที่ราคาจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่ หรือ เกิดฟองสบู่แตกได้ในอนาคต

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,
Back to Top